xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เร่งแก้ 10 จุดเสี่ยงอันตรายด่วน "บางนา-ชลบุรี" ชี้รถใช้ความเร็วสูง เกิดอุบัติเหตุซ้ำและรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทพ.เร่งแก้จุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยบนทางด่วน บอร์ดเคาะลุยสายบางนา-ชลบุรี พบ 10 จุดอันตรายเกิดซ้ำเหตุรถใช้ความเร็วสูง เร่งติดตั้งป้ายสัญญาณแจ้งเตือนชะลอความเร็ว พร้อมสำรวจสายอื่นเร่งแก้ทั้งระบบ รถใช้ทางพุ่งเกือบ 2 ล้านคัน/วัน 

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า จากที่บอร์ด กทพ.ได้เคยสั่งการให้ กทพ.ตรวจสอบเส้นทางบนทางด่วนจุดที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำบ่อยเพื่อเร่งหามาตรการแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนนั้น ล่าสุด กทพ.ได้รายงานต่อที่ประชุมบอร์ดกทพ.เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ถึงความคืบหน้าดังกล่าว โดยพบว่าทางพิเศษสายบูรพาวิถี หรือทางด่วนบางนา-ชลบุรี มีจุดที่พบเกิดอุบัติเหตุซ้ำบ่อยค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางนอกเมืองที่มีการใช้ความเร็วสูง ส่วนทางด่วนสายอื่นๆ อยู่ระหว่างเร่งสำรวจและจะสรุปรายละเอียดพร้อมแนวทางการแก้ไขเพื่อรายงานความคืบหน้ากับบอร์ดในการประชุมครั้งต่อไป 

เบื้องต้นสาเหตุที่ทำให้ทางด่วนบางนา-ชลบุรี มีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ป้ายบอกทางไม่ชัดเจน ซึ่งแนวทางการแก้ไข มีทั้งการปรับปรุงป้ายให้ชัดเจน ติดตั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ แจ้งป้ายกำหนดความเร็ว หรือหมุดสะท้อนแสง ในเวลากลางคืนเพื่อแจ้งเตือนผู้ขับขี่ รวมถึงการปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จะเป็นส่วนช่วยชะลอความเร็วเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น

สำหรับกรณีต้องแก้ไขปรับปรุงเร่งด่วน ให้นำเสนอแผนงานเพื่อขอใช้งบกลางปี 2566 ดำเนินการ เพราะเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการเร่งแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัยอยู่แล้ว 

“ตอนนี้อาจจะเห็นว่ามีรถชน รถที่จอดเสียบริเวณไหล่ทางมากขึ้น บางครั้งไม่ได้เกิดความเสียหายแค่ทรัพย์สินแต่มีการสูญเสียชีวิตด้วย ดังนั้นผมได้กำชับให้ไปตรวจสอบ และแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม และหลังปรับปรุงแก้ไขแล้วให้มีการประเมินผลว่ามีอุบัติเหตุลดน้อยลงแค่ไหน เพื่อทำเป็นการนำร่องและนำไปขยายผลกับทางด่วนสายอื่นต่อไป”

นอกจากแก้ปัญหาทางกายภาพแล้ว ให้ กทพ.นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบังคับใช้และควบคุมดูแล โดยประสานกับผู้ให้บริการระบบ GPS เพื่อนำจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย แจ้งเตือน เมื่อผู้ใช้ทางผ่านจุดดังกล่าว เป็นต้น 

นายสรพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันบนโครงข่ายทางด่วนมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 1.97 ล้านคันต่อวัน บางวันขึ้นไปแตะ 2 ล้านคันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 1.7 ล้านคัน/วัน ซึ่งทำให้ผลประกอบการปี 2565 มีกำไรสุทธิประมาณ 9,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิประมาณ 8,200 ล้านบาท ซึ่งทำให้ กทพ.สามารถจัดส่งรายได้เข้าคลังได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นผลหลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ และลดข้อจำกัดในการเดินทาง มีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณจราจรเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายงานผลการศึกษาการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน Road Safety Audit (RSA) บนโครงข่ายทางพิเศษ มีการตรวจสอบเพื่อวิเคราะห์ความปลอดภัยในทุกช่องทาง โดยพบว่าทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนบางนา-ชลบุรี) มีจุดอันตรายรวม 10 จุด ตามลำดับ คือ 1. บริเวณ กม. 6 (ทิศทางขาเข้าไปบางนา) 2. บริเวณ กม.4 +700-5+000 (ทิศทางขาเข้า) 3. บริเวณ กม.6 (ทิศทางขาออกไปชลบุรี) 4. บริเวณ กม.21 (ขาเข้า) 5. บริเวณ กม.16 (ขาเข้า) 

6. บริเวณ กม.16 (ขาออก) 7. บริเวณ กม.46 (ขาออก) 8. บริเวณ กม.24 (ขาออก) 9. บริเวณ กม.44 (ขาออก) 10. บริเวณ กม. 33 (ขาออก)

โดยมีแนวทางแก้ไข ได้แก่ ติดตั้งป้ายแนะเลือกช่องทางก่อนเข้าด่านฯ ป้ายเตือนลดความเร็ว เพิ่มเส้นเตือนชะลอความเร็ว (Anti-skid) 

 


กำลังโหลดความคิดเห็น