xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปี 67! สะพานขึงใหม่ทางด่วน "พระราม 3" กทพ.เร่งประมูลติดตั้งระบบค่าผ่านทาง มี.ค. 66 ปิดดีลสัญญาสุดท้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชื่อมแล้ว! สะพานขึงทางด่วน "พระราม 3- ดาวคะนอง" คู่ขนานสะพานพระราม 9 “ศักดิ์สยาม” ประธานเทคอนกรีต เผยเสร็จสมบูรณ์ เม.ย. 66 ขณะที่สัญญา 5 ระบบเก็บค่าผ่านทาง M-Flow เปิดประมูลต้น มี.ค. 66 สั่งเร่งทางขึ้น-ลงสุขสวัสดิ์ ตั้งเป้าเปิดใช้สะพานใหม่ในปี 67

วันที่ 22 ก.พ. 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 (Final Casting Ceremony) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ 4 โดยทำให้โครงสร้างของสะพานขึงเชื่อมกัน 100% ขณะที่การก่อสร้างของทั้งสัญญาที่ 4 มีความก้าวหน้าแล้วกว่า 98.23% งานโครงสร้างของสะพานขึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน เม.ย. 2566 จากนั้นจะเป็นงานในส่วนของสถาปัตยกรรม โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีแผนการเปิดให้บริการบางส่วน ช่วงบริเวณสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ถึงบริเวณด่านสุขสวัสดิ์ ภายในต้นปี 2567


โครงการทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ระยะทางรวม 18.7 กม. เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร ส่วนบริเวณสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 จะมีขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ) โดยในการออกแบบได้ศึกษาเรื่องความปลอดภัย โดยได้จัดทำแบบจำลองสะพาน Full Model สำหรับทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม ซึ่งสามารถรับแรงลมได้ถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด และมีระบบเซ็นเซอร์ที่วัดแรงสั่นสะเทือนที่ผิดปกติอีกด้วย ดังนั้น สะพานจึงมีความมั่นคงแข็งแรงสะดวกและปลอดภัย และได้มอบหมายให้ กทพ.พิจารณาติดตั้งระบบเซ็นเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือนนี้กับสะพานของ กทพ.อื่นๆ ด้วย เพื่อใช้ในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัย

สำหรับผลการศึกษา พบว่าโครงการทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ประมาณ 150,000 คันต่อวัน รองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพมหานคร การเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก และการมุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทยได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 จากปริมาณความแออัดทางจราจร 100,470 คันต่อวัน ลดลงเหลือ 75,325 คันต่อวัน หรือลดลง 25% และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ของกรมทางหลวง (ทล.) อีกด้วย


โดย ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2566 การก่อสร้างในภาพรวมคืบหน้าแล้ว 46.21% เร็วกว่าแผนงาน 5.56% (แผนงาน 40.65%) ส่วนสัญญาที่ 5 ซึ่งเป็นงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ควบคุมจราจรและระบบสื่อสารนั้น ร่างทีโออาร์ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนแล้ว ภายในต้นเดือน มี.ค. 2566 จะเปิดประกวดราคางานสัญญาที่ 5 ได้ ซึ่งใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (M-Flow) กรอบวงเงินไม่เกิน 900 ล้านบาท คาดว่าการก่อสร้างทั้งโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการทั้งโครงการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2567


นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาให้เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอพระราชทานชื่อสะพาน เพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำ กทพ.ให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด รวมถึงสร้างการรับรู้ด้านข้อมูลข่าวสารให้แก่สาธารณชนด้วย


นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เมื่อเปิดให้บริการโครงการทางด่วน สายพระราม 3- ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ เต็มรูปแบบ ในปี 2567 กทพ.จะมีการปิดสะพานพระราม 9 เพื่อทำการซ่อมบำรุงครั้งใหม่ คาดว่าจะเป็นช่วงปี 2568 โดยในระหว่างซ่อมจะให้รถมาใช้สะพานคู่ขนานใหม่แทน ซึ่ง กทพ.มีการศึกษาแผนงานการซ่อมบำรุงสะพานพระราม 9 ไว้แล้ว และจะดำเนินการตามระเบียบพัสดุ โดยคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมบำรุงประมาณ 1 ปี ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ที่สะพานพระราม 9 ด้วย เพื่อใช้กำกับตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด

“ผมได้เน้นย้ำถึงการก่อสร้างทุกโครงการของกระทรวงฯ ทุกหน่วยงาน ต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย และประชาชนต้องได้รับความสะดวกระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบถึงประโยชน์ของโครงการในด้านต่างๆ และการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยประชาชนต้องได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นายศักดิ์สยามกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น