บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) เปิดผลงานปี 2565 โชว์กำไรสุทธิพุ่งแตะ 781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93% จากปีก่อน และมีรายได้ค่าผ่านทาง 1,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จากปีก่อน เนื่องจากปริมาณจราจรบนทางยกระดับเพิ่ม หลังเปิดเมือง-ต่างชาติคัมแบ็ก
นายศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ DMT เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้ค่าผ่านทาง 1,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,202 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93% จากช่วงปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 404 ล้านบาท
"ผลประกอบการในปี 65 เติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากปริมาณจราจรบนทางยกระดับที่เพิ่มขึ้น หลังจากนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้ต่างชาติกลับเข้ามาในประเทศไทยอย่างคึกคัก ส่งผลให้รายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการจราจร รวมสัมปทานเดิม และตอนต่อขยายด้านทิศเหนือเฉลี่ยต่อวันมีจำนวน 85,417 คันต่อวัน เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีจำนวน 57,105 คันต่อวัน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 50% ประกอบกับภาครัฐไม่มีมาตรการการจำกัดการเดินทาง
ขณะที่บริษัทฯ ดำเนินการบริหารการจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นบริษัทฯ ที่ไม่มีภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ย หรือ Debt-Free Company ส่งให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องทางการเงินที่สูง สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาวตลอดอายุสัมปทาน" นายศักดิ์ดา กล่าว
สำหรับแผนธุรกิจในปี 66 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตเกิน 30% จากปีก่อน เนื่องจากคาดการณ์ปริมาณการจราจรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 110,000 คันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยอยู่ที่ 85,000 คันต่อวัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการคาดการณ์จากปริมาณจราจรที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
บริษัทได้จัดทำกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ในแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนปี 2566-2570 แบ่งออกเป็น 7 ด้าน ประกอบด้วย
1.กลยุทธ์ Safer Road Traffic Management/Maintenance เป็นกลยุทธ์หลักที่ส่งเสริมความโดดเด่นของการเป็นผู้ให้บริการ O&M ทางยกระดับ ตามวิสัยทัศน์ของบริษัท ที่ต้องทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ
2.กลยุทธ์เติบโตไปด้วยกัน Inclusive Growth เป็นกลยุทธ์ที่สร้างความเข้มแข็งขององค์กรในด้านการบริหารการจัดการต้นทุนการดำเนินงาน
3.กลยุทธ์พัฒนาธุรกิจอื่น Other Non-Toll เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและแนวคิด ซึ่งจะนำไปสู่ธุรกิจอื่นๆ และแหล่งรายได้ใหม่ๆ
4.กลยุทธ์ความยั่งยืน ESG เป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กร ในการส่งมอบคุณค่าให้แก่สิ่งแวดล้อม สังคมและ กำกับดูแลกิจการ
5.กลยุทธ์ HPO Resilience Management เป็นกลยุทธ์หลักในการพัฒนาศักยภาพขององค์กร และบุคลากรให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และปัจจัยโดยรอบ
6.กลยุทธ์ DMT Excellence Recognition เป็นกลยุทธ์ที่สร้างการรับรู้ความเชี่ยวชาญและผลงานขององค์กร ผ่านการรับรองจากหน่วยงานภายนอก และสร้างความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานเจ้าของสัมปทาน
7.กลยุทธ์การบริหารเงินสดและต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารกระแสเงินสดที่บริษัทได้รับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทต่ำลง และบริหารต้นทุนในทุกๆ ด้านให้มีประสิทธิภาพ