xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ช่องขุดทอง แฟนคลับกีฬาคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - เปิดผลสำรวจ นีลเส็น ตลาดกีฬาในไทยคึกคักมากขึ้น มีทั้งผู้ชมและแฟนคลับกีฬาเพิ่มต่อเนื่อง ชี้ช่องขุดทองในการทำการตลาดกับแฟนกีฬา เหตุคนไทยเชื่อถือโฆษณาในรูปแบบสปอนเซอร์ / ผู้สนับสนุน (Sponsorship Marketing) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมกีฬา เผยพลพวงยอดขายทีวีพุ่งควันหลงบอลโลก


**แฟนกีฬาสายเปย์ กำลังซื้อสูง สปอนเซอร์กีฬารุ่ง
จะเห็นได้ว่ากระแสของกีฬาในประเทศไทยมีความคึกคักและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก FIFA World Cup 2022 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชมรายการกีฬาจึงกลายเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์และเจ้าของสื่อต่างๆ

ล่าสุดนีลเส็นได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับ : Nielsen Sports Fan Insights 2022 ซึ่งเป็นการศึกษาแฟนตัวยงของกีฬาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นโปรไฟล์ พฤติกรรม ทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ การเสพสื่อ และอื่นๆ กับกลุ่มตัวอย่างคนไทยอายุระหว่าง 16-69 ปี ปีทั่วประเทศ พบว่าประเทศไทยมีกลุ่มผู้ชมและแฟนคลับกีฬาที่หนาแน่นมาก และเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพเป็นโอกาสที่แบรนด์ต่างๆ จะเข้ามาทำการตลาดกับ Audience กลุ่มนี้

โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลและวอลเลย์บอล กีฬาขวัญใจคนไทย พบว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีแฟนคลับจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีฐานแฟนมากกว่า 31.9 ล้านคน หรือ 62% ที่มีความสนใจ หรือดูฟุตบอล อันดับสองคือ วอลเลย์บอล มีฐานแฟน 28.84 ล้านคน (56%) ส่วนกีฬาอื่นๆ ที่มีจำนวนแฟนเยอะรองลงมาคือ แบดมินตัน และมวยไทย สิ่งที่น่าสนใจคือ ฐานแฟนคลับฟุตบอลที่เป็นผู้หญฺิงเติบโตขึ้นมาก โดยมีฐานแฟนที่เป็นผู้หญฺิงถึง 42% สะท้อนให้เห็นว่ารายการกีฬาสามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศ และทุกวัย

ในเรื่องของเรตติ้งรายการกีฬาพุ่งแรงนั้น พบว่าเทรนด์การดูรายการกีฬาในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจากการศึกษาพบว่านอกจากคนไทยดูกีฬาผ่านทีวีแล้ว ยังมีการใช้ Social media และแพลตฟอร์ม OTT ในการดูอีกด้วย

จากข้อมูลนีลเส็นเรตติ้ง พบว่ารายการที่ได้รับเรตติ้งสูงสุดส่วนใหญ่เป็นรายการกีฬา ซึ่งสามารถชนะเรตติ้งละครได้ โดยในปี 2021 รายการเรตติ้งอันดับ 1 คือ การถ่ายทอดสด ฟุตบอลเอ เอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ (ไทย+อินโดนีเซีย) และในปี 2022 การถ่ายทอดสด การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ 2022 (ไทย+โดมินิกัน) ทำเรตติ้งได้สูงสุดทั้งช่องทางทีวีและดิจิทัล (Cross-Platform Ratings) ได้รับเรตติ้ง 10.088 โดยรายการกีฬาไหนที่มีทีมไทยเข้าร่วมแข่งขันด้วยจะได้รับเรตติ้งดีเป็นพิเศษ


ทั้งนี้ ทางนีลเส็นยังได้กล่าวถึงหัวข้อ “โอกาสทองในการทำการตลาดกับแฟนกีฬา” ด้วยว่า จากการสำรวจของ Nielsen พบว่า 85% ของคนไทยเชื่อถือโฆษณาในรูปแบบสปอนเซอร์ / ผู้สนับสนุน (Sponsorship Marketing) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมกีฬา ในปี 2021 แบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกมีการประกาศข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์ให้กับงานกีฬาเพิ่มขึ้น 107% และจากการวิเคราะห์ผู้สนับสนุน 100 รายใน 7 ประเทศกว่า 20 อุตสาหกรรม พบว่าการเป็นสปอนเซอร์ด้านกีฬาทำให้ความตั้งใจในการซื้อสินค้าในหมู่แฟนๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 10%

“แฟนๆ ที่คลั่งไคล้กีฬามีกำลังซื้อสูง ตั้งใจหนุนสินค้าแบรนด์สปอนเซอร์ เป็นโอกาสทองที่แบรนด์ต่างๆ สามารถเข้าไปทำการตลาดได้ ซึ่ง 69% ของคนไทยเห็นด้วยว่าการที่แบรนด์เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับกีฬาสามารถดึงดูดความสนใจแบรนด์ได้เพิ่มขึ้น และ 61% จะซื้อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ที่เป็นสปอนเซอร์กีฬามากกว่าซื้อแบรนด์คู่แข่ง หากราคาและคุณภาพเท่ากัน”

นอกจากนี้ โฆษณาที่มีการใช้ธีมกีฬาพบว่าได้รับการตอบรับดี คนไทยมากกว่า 42% รู้สึกโดนใจกับโฆษณาธีมกีฬา และการใช้นักกีฬามาเป็นตัวดึงความสนใจ จะได้รับการตอบรับดีในหมู่คน Gen Y และ Gen X จะเห็นว่าการทำการตลาดกับกีฬาเป็นเทรนด์ที่มาแรง และยังเป็นกระแสอยู่ตลอดเวลา แบรนด์เองต้องเตรียมรับมือเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ และเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นนั่นเอง


***บอลโลกที่ผ่านมาแผ่วเหตุล่าช้า
มหกรรมบอลโลก หรือ FIFA WORLD CUP QATAR 2022 แม้ในไทยจะอลเวงกันก่อนจะได้รับชมจริง ก็ส่งผลสะดุดขาให้แผนสปอนเซอร์ทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งทาง MI โดยนายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด (MI Group) ได้เปิดเผยว่า จากภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาโค้งสุดท้ายของปี 2565 นี้ คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาจะปิดอยู่ที่ 82,300 ล้านบาท หรือเติบโต 8.1%

โดยมองว่าแม้กระแสบอลโลก FIFA WORLD CUP QATAR 2022 ที่เพิ่งปิดฉากลงไปจะร้อนแรงและเป็นที่สนใจของแฟนบอลชาวไทย แต่เม็ดเงินโฆษณาของแบรนด์และผู้ประกอบการต่างๆที่คาดว่าจะสะพัดในช่วงไตรมาส 4 กลับไม่ร้อนแรงไปตามกระแส เนื่องจากความล่าช้า ความไม่ชัดเจนของรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆในการถ่ายทอดสด เช่น รายชื่อสปอนเซอร์หลัก แพกเกจการขายโฆษณา ตารางช่องทางการถ่ายทอด รวมถึงสิทธิ์ในการสื่อสารทางการตลาดอื่นๆ (Sport Marketing) ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอนจนถึงวินาทีสุดท้ายก่อนมหกรรมฟุตบอลจะเริ่มขึ้น

“โดยปกติมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ ระดับโลกหรือระดับภูมิภาค มักเป็นที่สนใจและติดตามของแฟนกีฬาชาวไทย ซึ่งทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวเม็ดเงินการตลาด สื่อสารการตลาดของเหล่าผู้ประกอบการและแบรนด์จะสะพัดอย่างมากเพื่อเกาะกระแสมหกรรมดังกล่าว โดยช่วงก่อนปี 2020 ก่อนการระบาดของโควิด มหกรรมกีฬาเหล่านี้ทำให้เกิดเม็ดการตลาด สื่อสารการตลาด โดยเฉพาะเม็ดเงินโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์สะพัดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท แต่ FIFA WORLD CUP QATAR 2022 ที่เพิ่งจบลงไป มีเม็ดเงินโฆษณาสะพัดในสื่อโทรทัศน์ซึ่งถือเป็นสื่อหลักในการรับชมไม่ถึง 200 ล้านบาท” นายภวัตกล่าว


**ซัมซุง-แอลจี ยอดขายทีวีพุ่ง
อย่างไรก็ตาม บอลโลกปีที่แล้วนี้ก็ได้ช่วยชีวิตตลาดทีวีให้ไปต่อได้เป็นอย่างดี หลังเจอมรสุมถล่มใส่จนเจ็บกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะเจ้าตลาด อย่าง ซัมซุง ที่มียอดขายทีวีพรีเมียมพุ่ง 2 เท่าหลังจบเทศกาลศึกลูกหนังบอลโลก

ตอกย้ำแบรนด์ทีวีอันดับหนึ่งที่ครองยอดขายทีวีสูงสุดทั่วโลกติดต่อกันถึง 16 ปีซ้อน ส่งผลยอดขายทีวีพุ่งแรงปลายปี โดยเฉพาะทีวีรุ่นพรีเมียม Neo QLED เติบโตขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา พร้อมปิดท้ายปีอัดโปรโมชันยิ่งใหญ่ต่อเนื่องแบบไปต่อไม่ให้แผ่ว กับแคมเปญ “Big Luck, Big Love for Big Planet” เพียงชอปทีวีรุ่นที่ร่วมรายการ หรือชอปเครื่องใช้ไฟฟ้าของซัมซุง ครบทุก 10,000 บาท ก็ได้สิทธิ์ลุ้นรับ BIG LUCK เป็นเจ้าของ MINI Electric สัมผัสเทคโนโลยี Eco Friendly เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบ100% มูลค่า 2,459,000 บาท 1 รางวัล ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 มกราคม 2566 เวลา 18.00 น.

“ภาพรวมตลาดทีวีมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้บริโภคให้การตอบรับทีวีจอใหญ่มากขึ้น ทำให้สัดส่วนหน้าจอใหญ่ตั้งแต่ 65 นิ้วขึ้นไป เติบโตขึ้นมากแบบเห็นได้ชัด นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มเครื่องเสียงของซัมซุงที่ใช้คู่กับทีวี เช่น Soundbar รวมไปถึง Sound Tower ก็ได้รับการตอบรับจากตลาดที่ดีมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Samsung Soundbar มีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมด”


ทางด้านแอลจีเองก็มียอดขายทีวีพรีเมียมเติบโตถึง 37% โดยนายอำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ได้เห็นความท้าทายอย่างมากในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าประเทศไทย ทั้งในด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นและการแข่งขันทางด้านราคาจากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ แต่แอลจียังคงรักษามาตรฐานในการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลกด้วยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังนำเสนอทางเลือกที่มากกว่าด้านราคาให้แก่ลูกค้าระดับพรีเมียมถึงระดับกลางซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของแอลจี

ล่าสุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทีวี แอลจียังคงครองสถานะผู้นำในกลุ่มทีวีพรีเมียมเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่อง 10 ปีซ้อน ด้วยยอดขายผลิตภัณฑ์ทีวี LG OLED ซึ่งเป็นรุ่นพรีเมียมของแอลจี โดยในปี 2565 มียอดขายทีวีทั้งหมด 230,000 เครื่อง มูลค่ารวม 3,738 ล้านบาท แบ่งเป็นทีวี LG OLED ทั้งหมด 10,600 เครื่อง มูลค่า 520 ล้านบาท ทั้งนี้ แอลจียังเล็งเห็นศักยภาพของตลาดทีวีพรีเมียม ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนยอดขายทีวี OLED ของแอลจีซึ่งอยู่ที่ 75% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโตอยู่ที่ 37% ทำให้แอลจียังคงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ทีวีทุกรุ่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ แอลจีตั้งเป้าขยายส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มทีวีรวมเป็น 23% ในปี 2566 โดยมุ่งผลักดันตลาดพรีเมียมให้เติบโตยิ่งขึ้น และตั้งเป้ายอดขายกลุ่มทีวี OLED ที่ 75% ในขณะที่ตั้งเป้ายอดขายทีวีหน้าจอขนาดใหญ่ 70 นิ้วขึ้นไปอยู่ที่ 30%


กำลังโหลดความคิดเห็น