ส่งออก พ.ย. 65 ทำได้มูลค่า 22,308 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 6% ติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน แต่ยอดรวม 11 เดือนยังขยายตัวได้ดี มีมูลค่า 265,349.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7.6% คิดเป็นเงินบาท 9.167 ล้านล้านบาท โตเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน พ.ย. 2565 มีมูลค่า 22,308 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 846,191 ล้านบาท ส่วนยอดรวม 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 265,349.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.6% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 9,167,993 ล้านบาท ซึ่งถือว่าภาพรวมการส่งออกยังทำได้ดี เพราะปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 4% มูลค่าเป็นเงินบาทตั้งไว้ที่ 9 ล้านล้านบาท แต่ผ่านมาแค่ 11 เดือนทำได้แล้ว 9.168 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมายไปแล้ว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือน พ.ย. 2565 ขยายตัวติดลบ มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยปี 2564 เพิ่ม 6% แต่ปีนี้จะเพิ่มแค่ 3.2% และปี 2566 จะเพิ่ม 2.7% ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารประเทศต่างๆ จะมีผลไปถึงปี 2566 ทำให้ความต้องการบริโภคได้รับผลกระทบ และมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอื่นๆ ที่ยังมีแนวโน้มไม่ยุติ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงจากพลังงาน อาหารสัตว์ และความต้องการบริโภคลดลงไปด้วย
ส่วนปัจจัยที่ยังช่วยสนับสนุนการส่งออก มาจากการดำเนินงานอย่างเข้มข้นของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน เช่น การลงนามขยายความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซกับจีน ซึ่งเป็นช่องทางนวัตกรรมทางการตลาดที่มีผลให้ตัวเลขในจีนยังไปได้ การเร่งรัดการเปิดด่านรอบประเทศจาก 97 ด่าน เปิดได้แล้ว 72 ด่าน ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่าปี 2565 โลกจะนำเข้าอาหารมากขึ้นประมาณ 10% ส่งผลต่อการขยายตัวด้านอาหารและการส่งออกของไทย การเติบโตของ 5G รวมทั้ง Digital Economy ช่วยให้ความต้องการสินค้าเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟนมีมากขึ้น และสถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลาย ทำให้ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์กลับมาดีขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน พ.ย. 2565 สินค้าเกษตรลด 4.5% สินค้าสำคัญที่ลด เช่น ยางพารา เพราะความต้องการใช้ถุงมือยางในจีนและมาเลเซียลดลง แต่มีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง โดยเฉพาะสับปะรด ทุเรียน ที่เติบโตได้ดี สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 1% สินค้าสำคัญที่เพิ่ม เช่น น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ไอศกรีม ที่ยังคงเป็นดาวรุ่ง บวก 30 เดือนติดต่อกัน เครื่องดื่ม และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 5.1% แต่มีสินค้าที่ขยายตัวเพิ่ม เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1. อิรัก เพิ่ม 215.6% 2. บาห์เรน เพิ่ม 153.1% 3. ซาอุดีอาระเบีย เพิ่ม 40.1% 4. สหราชอาณาจักร เพิ่ม 22.2% 5. สปป.ลาว เพิ่ม 21.3% 6. เบลเยียม เพิ่ม 11.4% 7. เม็กซิโก เพิ่ม 10.5% 8. เมียนมา เพิ่ม 3.7% 9. สหรัฐฯ เพิ่ม 1.2% และ 10. อินเดีย เพิ่ม 0.7%
ส่วนการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือน พ.ย. 2565 การส่งออกมีมูลค่า 89,349 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.23% และ 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 944,105 ล้านบาท ลดลง 0.51% และหากแยกเป็นการส่งออกชายแดนเดือน พ.ย. 2565 มีมูลค่า 55,001 ล้านบาท เพิ่ม 7.04% รวม 11 เดือน มูลค่า 598,483 ล้านบาท เพิ่ม 16.32% และการค้าผ่านแดน มีมูลค่า 34,347 ล้านบาท ลดลง 4.64% รวม 11 เดือน มูลค่า 345,622 ล้านบาท ลดลง 20.44% เพราะหันไปส่งออกทางเรือและทางอากาศมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การส่งออกในเดือน พ.ย. 2565 ที่กลับมาติดลบ 6% เป็นการกลับมาติดลบเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากที่เดือน ต.ค. 2565 ติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือนนับจาก ก.พ. 2564 ส่วนการนำเข้า พ.ย. 2565 มีมูลค่า 23,650.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.6% ขาดดุลการค้า 1,342.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 11 เดือน นำเข้ามูลค่า 280,438 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.3% ขาดดุลการค้า 15,088.9 ล้านเหรียญสหรัฐ