ปี 2566 ที่จะถึงนี้ เป็นปีที่องค์กรระดับโลกหลายองค์กร ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจโลก จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ หลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) หรือกระทั่งหลาย ๆ ประเทศในฝั่งเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา ที่ต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจแตกต่างกันไป มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ในภาพรวม ทุกประเทศหนีภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปไม่ได้ อยู่ที่ว่า ประเทศไหน มีความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ดีกว่ากัน
ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดจากปัญหาหลัก คือ ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก เริ่มจากทำให้ราคาพลังงานปรับขึ้นยกแผง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก ราคาธัญพืช ข้าวโพด ข้าวสาลี และน้ำมันดอกทานตะวัน ปรับตัวสูงขึ้น จนกระทบต่อราคาอาหารไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศนำมาตรการขึ้นดอกเบี้ยมาใช้ ก็ยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว
ในส่วนของไทย ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้น ราคาปุ๋ยเคมีในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทางในการผลิตปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาอาหาร ก็ปรับเพิ่มขึ้น แม้จะไม่มากเหมือนกับที่หลาย ๆ ประเทศได้เจอะเจอ แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นพอสมควร ซึ่งได้เพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับคนไทยในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าหนักหนาเอาการเช่นเดียวกัน
IMF ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 66 โตลดลง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ว่าจะขยายตัวลดลงเหลือ 2.7% จากปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 3.2% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศสำคัญในโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เติบโตได้ลดลง จากการเกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น และปัญหาการกลับมาระบาดของโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นก็ตาม
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในปี 2021 เป็น 8.8% ในปี 2022 และจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเหลือ 6.5% ในปี 2023 และเพิ่มขึ้น 4.1% ในปี 2024 โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกระจายในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว และจะมีความแปรปรวนมากขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา
สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2565 IMF ยังคงคาดการณ์ว่าจะเติบโต 2.8% ตามที่เคยประเมินไว้ในเดือนก.ย.2565 แต่มีการปรับลดคาดการณ์ปี 2566 ลงเหลือ 3.7% จากครั้งก่อนคาดว่าจะเติบโตได้ 4%
“พาณิชย์”เตรียมแผน-มาตรการรับมือ
จากการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวดังกล่าว ทำให้กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมจัดทำแผนและมาตรการเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองของกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจการค้าของไทย และประเมินผลกระทบ รวมทั้งจัดทำแผนและมาตรการรับมือ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
สนค. ได้ประเมินว่า นอกจากเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ลดลงแล้ว ภาคการส่งออกก็น่าจะเริ่มมีปัญหา จากที่เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว และตลาดจีนที่เป็นคู่ค้าลำดับหนึ่ง และตลาดส่งออกลำดับที่ 2 ของไทย ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะจีนมีนโยบายซีโร่โควิด และเพิ่งที่จะผ่อนปรนมาตรการ จึงต้องรอติดตามและประเมินผลอีกระยะหนึ่ง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีความผันผวน หากอ่อนค่ามากเกินไป ก็จะกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบหลาย ๆ อย่างได้
ส่งออกเห็นแววรับแรงกระแทก
การส่งออกของไทย เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด 19 เดือน แต่ตัวเลขเดือนต.ค.2565 ที่ผ่านมา การส่งออกกลับมาติดลบ 4.4% เป็นการพลิกกลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่ก.พ.2564 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดูไม่ดีนัก เพราะการส่งออกที่เหลืออีก 2 เดือน (พ.ย.-ธ.ค.) ก็ไม่น่าจะส่งออกได้มากนัก เพราะเป็นช่วงปลายปี ที่คำสั่งซื้อชะลอตัวอยู่แล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เอง ได้ประเมินว่าการส่งออกภาพรวมทั้งปี 2565 จะขยายตัวได้จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% ประมาณ 1 เท่าตัว หรือคิดเป็นเพิ่ม 8% หากดูยอดรวมการส่งออก 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) ที่ทำได้แล้ว 9.1% นั่นหมายความว่า การส่งออกในช่วงอีก 2 เดือนที่เหลือ ก็น่าจะติดลบ เพราะถ้าเป็นบวก การส่งออกทั้งปีน่าจะเพิ่มขึ้นมากว่าตัวเลข 10 เดือนที่ทำได้ 9.1%
แก้เกมเจาะ 3 ตลาดใหญ่เพิ่ม 3 แสนล้าน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ไปเตรียมแผน เตรียมมาตรการ เพื่อรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 โดยเฉพาะการที่หลายประเทศกำลังจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย
โดยในด้านการส่งออก ได้มีการประเมินเบื้องต้นว่า จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ให้จัดตั้งวอร์รูม กรอ.พาณิชย์ ขึ้นมา ประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนทั้งหมด เพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตลอดปี 2566 เพื่อให้การส่งออก ตัวเลขยังคงดีที่สุดเท่าที่จะจับมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนของไทยเดินหน้าไปได้
สำหรับรายละเอียดแผนการทำงาน จะเน้นบุกเจาะ 3 ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ คือ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และCLMV โดย 3 ตลาดนี้ ในปี 2565 คาดว่าจะมียอดการส่งออกรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และในปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท หรือทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้ที่อาจจะสูญเสียไปในตลาดอื่น ๆ ที่เศรษฐกิจชะลอตัว
เปิดรายละเอียดแต่ละตลาด
โดยการเพิ่มยอดการส่งออกในตลาดตะวันออกกลาง จะมุ่ง 3 ตลาดหลัก คือ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และการ์ตา มีสินค้าเป้าหมายที่จะผลักดัน คือ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น และตั้งเป้าปี 2566 เพิ่มตัวเลขส่งออก 3 ประเทศนี้ให้เพิ่มขึ้น 20% จาก 8,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 เป็น 10,300 ล้านเหรียญ ในปี 2566 หรือประมาณ 350,000 ล้านบาท
ตลาดเอเชียใต้ จะเน้นประเทศสำคัญ 3 ประเทศ คือ อินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล สินค้าสำคัญที่จะผลักดัน เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ตั้งเป้าส่งออกปี 2566 ใน 3 ประเทศ เพิ่มขึ้น 10% เพิ่มจากปีนี้ที่ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น “13,200 ล้านเหรียญ ในปี 2566 หรือประมาณ 450,000 ล้านบาท
ตลาด CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม สินค้าเป้าหมายสำคัญที่จะผลักดัน เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น และยังจะเร่งรัดการส่งออกผ่านการค้าชายแดน เน้นสินค้าอาหาร ผลไม้ ผักและสินค้าอื่น ๆ ตั้งเป้า เพิ่ม 10-15% จาก 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 เป็น 33,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 หรือประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท
เตรียมจัดคณะลุยทำหน้าที่เซลส์แมน
นอกเหนือจากการผลักดันการส่งออกในตลาดเป้าหมาย นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนจัดคณะผู้แทนการค้า เดินทางไปทำหน้าที่เซลส์แมน เพื่อค้าขายกับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเบื้องต้นตั้งเป้าที่จะเดินทางไปเจรจา 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งเป้าจะให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญอีกประตูหนึ่ง นอกจากซาอุดิอาระเบีย ที่จะใช้ส่งสินค้าไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย จะเน้นขยายตลาดรัฐคุชราต เมืองอาห์เมดาบัด ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินเดีย และมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมณฑลยูนนาน ของจีน จะเดินทางไปเจรจาเพื่ออำนวยความสะดวกการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านมณฑลยูนนาน และจะเร่งรัดทำ Mini FTA เพราะเป็นที่ตั้งของด่านสำคัญ คือ ด่านโม่ฮาน ที่ขณะนี้รัฐบาลจีนเห็นชอบเปิดด่านได้แล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะไม่รอการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพราะใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ แต่จะใช้การเจรจาทำ Mini FTA ไปก่อน โดยเฉพาะกับอังกฤษ ได้มอบให้หาทางไปเจรจาทำ Mini FTA กับเมืองหรือเขตเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษ เป็นการเร่งด่วนแล้ว ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น ปากีสถาน ให้หาทางทำกับเมืองลาฮอร์ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ หรือกลุ่มอ่าวอาหรับ (GCC) ก็ให้หาทางเจรจาทำ Mini FTA ไม่ต้องรอทำ FTA เพราะจะช่วยเรื่องการส่งออกได้เร็วขึ้น
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน-ต่างประเทศ
จากแผนงานและมาตรการข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งในแผนรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศ แต่กระทรวงพาณิชย์ยังมีอีกหลายหน่วยงาน ที่ดูแลเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมแผนงาน และมาตรการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนที่รับผิดชอบอยู่เช่นเดียวกัน
โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ จะมีการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยจะมีการร่วมมือกับผู้ผลิต ห้าง ลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง และหากมีความจำเป็นในช่วงที่ราคาสินค้าผันผวน ก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด บรรจุสินค้าและบริการที่มีปัญหาเข้าสู่บัญชีควบคุม จะทำการบริหารจัดการสินค้าเกษตร โดยผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสินค้าสำคัญที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ 5 ชนิด และกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ 4 ชนิด คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเร่งผลักดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมและพัฒนา SMEs เกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ให้มีโอกาสทางการค้า ทั้งการค้าในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกไปต่างประเทศ การผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา การผลักดันและใช้ Soft Power เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยทั้งในและต่างประเทศ การขับเคลื่อนนโยบาย BCG และการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน ที่จะต้องมีความสะดวก สบายและคล่องตัวมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนและมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะใช้รับมือเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 โดยแผนเชิงรุกและเชิงลึก แต่ละหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์จะมีการลงลึกในรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบ และยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคง ส่วนจะทำสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป