"ศักดิ์สยาม" ยันเดินหน้า "สายสีส้ม" ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ยอมรับ รฟม.ควรรอศาลตัดสินให้สิ้นข้อสงสัยก่อนลงนามเพื่อไม่มีปัญหาซ้อนในอนาคต แต่หากยิ่งล่าช้าประชาชนเสียประโยชน์ และพร้อมรับโอนคืน "สีเขียว" หาก กทม.ทำตามข้อ กม.
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุนรวม 1.4 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้การพิจารณายังอยู่ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ตนไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ ต้องรอให้ รฟม.เสนอมาที่กระทรวงคมนาคมก่อน ซึ่ง รฟม.ก็ยังไม่ได้รายงานอะไรเข้ามา ตอนนี้ตนฟังรายงานแต่จากสื่อมวลชน และตนให้ความเห็นอะไรยังไม่ได้ด้วยเพราะไม่มีอำนาจ
โดยส่วนตัวต้องการให้โครงการเดินหน้าเร็วที่สุด แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และความจริง ควรต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในประเด็นที่มีการฟ้องร้องกันให้ถึงที่สุดก่อนเพื่อให้มันจบ เพราะหากดำเนินการไปแล้ว ต่อมาศาลวินิจฉัยออกมาไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ทำไปก็อาจจะเกิดปัญหาอื่นซ้อนขึ้นมาได้
เมื่อถามว่า แสดงว่าตอนนี้ไม่กล้าลงนามในสัญญาใช่หรือไม่ นายศักดิ์สยามตอบว่าไม่ใช่ไม่กล้า แต่ในความเห็นตนควรรอกระบวนการทางกฎหมาย โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ให้จบสิ้นข้อสงสัยก่อน ซึ่งตนได้ให้นโยบายแก่ทุกหน่วย ไม่ใช่แค่กับ รฟม. ว่าการดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ขณะนี้กระบวนการพิจารณารถไฟฟ้าสายสีส้มยังอยู่ที่คณะกรรมการ ม.36 ซึ่งหากได้ข้อสรุปตามขั้นตอนจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. และเสนอต่อมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม. ดังนั้น หากเรื่องเสนอมาถึงกระทรวงแล้ว แต่ผลการพิจารณาคดีความต่างๆ ยังไม่ได้ข้อยุติจะทำอย่างไร นายศักดิ์สยามตอบว่า เมื่อถึงตอนนั้นต้องมาดูก่อนว่า รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ได้ดำเนินการมาอย่างไร ทำตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งมีปลัดกระทรวงฯ ฝ่ายกฎหมายช่วยพิจารณา หากเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย มติ ครม.นั้ศาลถึงที่สุด ไม่มีอะไรต้องแนะนำอะไรอีก ตนก็มีหน้าที่นำเสนอ ครม. ซึ่งตามขั้นตอน ก่อนเสนอ ครม.ต้องหารือรองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล และทางเลขาฯ ครม.ต้องมีการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก เป็นหลักปฏิบัติที่ปกติ
อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยามไม่ทราบว่าการลงนามในสัญญาจะทันปลายปี 2565 นี้หรือไม่ ใจอยากให้เร็วที่สุดเพราะจะเป็นการเสียโอกาส ทุกอย่างช้าไปเรื่อยๆ และยังมีเรื่องการยืนราคาอีก ไม่ง่าย แต่คงทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องให้ข้อสงสัยจบสิ้นก่อน
สำหรับโครงการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กม.นั้น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สุทธิให้แก่รัฐ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท หรือขอรับการสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ 78,287.95 ล้านบาท จากกรอบภาครัฐจะสนับสนุน ‘ค่างานโยธา’ ให้เอกชนในวงเงินไม่เกิน 96,012 ล้านบาท
สำหรับกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีแนวคิดจะโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับคืนกระทรวงคมนาคมบริหารนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เรื่องนี้หาก กทม.ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าดำเนินการครบถ้วนและเป็นประโยชน์ต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน กระทรวงคมนาคม รฟม.ก็ยินดีที่จะรับมา เพราะเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการ