นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เริ่มงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร วงเงิน 4.2 พันล้านบาท แล้ว อยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภค และตอกเสาเข็ม ภาพรวมการก่อสร้างมีความคืบหน้า 4.86% โดยงานโยธาคืบหน้า 5.65% และงานระบบรถไฟฟ้าคืบหน้า 3.27% ตามแผนงานโครงการดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 2568 แต่ทางบริษัทฯ จะเร่งรัดงานก่อสร้างทุกด้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดบริการประชาชนได้ภายในปี 2567
นายสุรพงษ์ ระบุว่า งานก่อสร้างยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่พบปัญหาอุปสรรคใด โดยรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี มีทั้งหมด 2 สถานี ประกอบด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี มีรูปแบบเป็นทางวิ่งยกระดับ มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางบนถนนแจ้งวัฒนะ แยกออกจากเส้นทางสายหลักที่สถานีศรีรัชของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูสายหลัก เพื่อเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีอิมแพ็คฯ และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี โดยเป็นที่ตั้งของสถานีทะเลสาบฯ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลัก ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าได้อีก 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-เตาปูน) รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) คาดว่าการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสีชมพูส่วนต่อขยายในปีแรก จะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คน/เที่ยว/วัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในการเดินทางเข้าพื้นที่เมืองทองธานีได้เป็นอย่างดี เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีผู้เดินทางเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสีเหลือง ส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร วงเงิน 3.7 พันล้านบาท ว่า ขณะนี้ รฟม. ยังไม่ได้มีการเจรจาเรื่องนี้กับทางบริษัทฯ เพิ่มเติม และยังไม่มีข้อสรุปใดๆ แต่ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ให้คำตอบยืนยันไปแล้วว่า ไม่สามารถจ่ายชดเชยรายได้ให้กับเอกชน กรณีสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย มีผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-รัชโยธิน เป็นข้อเสนอในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ของบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเจรจาระหว่าง รฟม. และ EBM เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากผลการศึกษาผลกระทบด้านรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง พบว่า หากเปิดให้บริการโครงการดังกล่าว ภายในปีแรกจะกระทบรายได้ BEM 988 ล้านบาท และตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ประมาณ 2.7 พันล้านบาท