“ศักดิ์สยาม” เดินหน้าต่อยอดรถเมล์ EV สู่ รถไฟ หรือ EV Train เผยหัวจักรไฟฟ้าต้นแบบ ฝีมือบริษัทคนไทยจะเสร็จและเตรียมวิ่งทดสอบต้นเดือน พ.ย. 65 แนะหมดสัมปทานสายสีเขียวปี 2572 คิดค่าโดยสารใหม่ 20 บาทตลอดสายได้ เหตุไม่มีต้นทุนส่วนค่าก่อสร้างแล้ว เหลือแค่ค่า O&M
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายสนับสนุนให้เกิดกระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการจ้างเหมาบริการรถเมล์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเดินรถและลดมลภาวะเป็นพิษในเขตเมือง โดยจะขยายไปจากคมนาคมขนส่งทางบกสู่คมนาคมขนส่งทางราง เป็นรถไฟที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV on Train) ซึ่งขณะนี้ บริษัท ไทยสมายล์บัส อยู่ระหว่างการพัฒนาหัวรถจักรรถไฟ EV ต้นแบบ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว โดยมีแผนจะนำออกทดสอบในต้นเดือน พ.ย. 2565 ซึ่งหากการพัฒนามีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานจะนำไปต่อยอดใช้กับรถไฟไทยต่อไป เพราะจะช่วยลดต้นทุนจากการใช้พลังงาน
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในส่วนของแผนจัดหารถจักรล้อเลื่อนของการรถไฟฯ นั้น ตนเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีของพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดต้นทุนลง เพราะจะนำไปสู่การกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ ซึ่งจะให้รอดูผลการทดสอบการพัฒนาหัวรถจักรรถไฟ EV Train ต้นแบบด้วยว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน ประกอบกับปัจจุบันงบประมาณของภาครัฐมีจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่ต้องจัดหาเพราะมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อบริการประชาชนก็ต้องดำเนินการ
“เป็นทิศทางที่ดีที่ไทยสามารถพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เองโดยผู้ประกอบการไทย ซึ่งบริษัทฯ มีการพัฒนาแบตเตอรี่ มีการทดสอบ อยู่ในน้ำได้ถึง 30 นาที สามารถทนไฟ 30 นาที และมีต้นทุนผลิตที่ต่ำกว่า รถเมล์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ 1 ชุดมีต้นทุน 2 ล้านบาท”
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนในเมือง แม้จะเป็นระบบไฟฟ้าแต่มีการลงทุนสูงมาก ทั้งค่าเวนคืน ค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าระบบอาณัติสัญญาณและระบบไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนทั้งหมดจะถูกนำมาคำนวณเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่สูงตามไปด้วย ซึ่งในอนาคตหากสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้ เชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนในส่วนของระบบไฟฟ้าลงไปได้อีกมากแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไปศึกษารายละเอียด
นอกจากนี้ ตนยังเห็นว่าเมื่อหลักคิดในการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามาจากค่าลงทุนและต้นทุนก่อสร้างแล้ว เมื่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS สิ้นสุดปี 2572 หรือครบ 30 ปีแล้ว ต้นทุนในส่วนของค่าลงทุนโครงสร้างต่างจะหมดไป เหลือเพียงค่าจ้างเดินรถ/บำรุงรักษา (O&M) เท่านั้น ซึ่งจะทำให้สามารถคิดอัตราค่าโดยสารได้ถูกลง จะเก็บ 20 บาทตลอดสายก็สามารถทำได้ และเป็นการดูแลค่าครองชีพให้ประชาชนใน กทม.ได้เป็นอย่างดี