รฟท.เผยผลสำรวจความเห็นประชาชนคึกคัก แนวโน้มเห็นด้วยปรับรถไฟทางไกลใช้ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” เป็นสถานีต้นทางปลายทางรถไฟทางไกล และสนับสนุนรถไฟชานเมืองเข้า "หัวลำโพง" เหมือนเดิม
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนในการเปิดใช้ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หรือสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเป็นสถานีต้นทางปลายทางของรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็วทุกสาย (ยกเว้นสายตะวันออก) จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และปรับเส้นทางวิ่งของขบวนสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ให้วิ่งบนทางยกระดับ ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีรังสิต เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำนโยบายการบริหารจัดการ โดยได้เริ่มสำรวจความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟฯ นั้น
ผลปรากฏว่าการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ และส่งความคิดเห็นเข้ามายังการรถไฟฯ เป็นจำนวนมาก โดยความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางขบวนรถจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ขณะเดียวกัน มีประชาชนจำนวนมาก แสดงความคิดเห็นที่เห็นด้วยกับการที่การรถไฟฯ ยังคงให้ขบวนรถไฟชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย ให้บริการต้นทางปลายทางที่สถานีกรุงเทพตามเดิม
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังแสดงความคิดเห็นว่าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์มีความเหมาะสม และมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของประเทศ เนื่องจากตั้งอยู่ศูนย์กลางธุรกิจ การคมนาคมสะดวก สามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้หลากหลายทางเลือก ดังนั้นจึงอยากให้การรถไฟฯ ใช้ประโยชน์จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้คุ้มค่าสูงสุด นอกเหนือจากการให้บริการเฉพาะรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเท่านั้น
ส่วนเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้โดยสารในช่วงเปลี่ยนถ่ายระบบนั้น ประชาชนมีแนวโน้มเห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้บริการรถโดยสารทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว ที่ซื้อตั๋วโดยสาร ลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่ประสงค์จะลงสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเดิมขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีดอนเมืองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
รวมทั้งยังเห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้บริการรถโดยสารเชิงสังคม ที่สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เฉพาะผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วประเภทตั๋วเดือน ในสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน ที่หยุดรถ กม.19 ที่หยุดทุ่งสองห้อง และที่หยุดรถ กม.11 ที่การรถไฟฯ ไม่จอดให้บริการ
การรถไฟฯ ขอยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทาง กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ ขบวนรถด่วน และขบวนรถเร็ว จากสถานีกรุงเทพ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะส่งผลดีต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้บริการที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มีทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเชื่อมต่อโดยตรง และใกล้จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีม่วง สีชมพู อีกทั้งสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ยังอยู่ใกล้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) มีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อหลายสาย
ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นสถานีรถไฟสร้างภายใต้แนวคิดการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) รองรับการใช้บริการที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ครอบคลุมสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ระบบชานชาลาสูง (110 ซม.) สะดวกต่อการขึ้น/ลงจากขบวนรถไฟ เนื่องจากพื้นชานชาลาอยู่ระดับเดียวกับพื้นรถ ความเพียงพอ และทันสมัยของห้องสุขา ระบบปรับอากาศของชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารและที่พักรอ พื้นที่จอดรถยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี ทางการรถไฟฯ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น โดยยังคงเปิดรับฟังความคิดเห็นฯ ไปจนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟฯ หรือคลิก https://forms.gle/zz3kJAMydBpNU2GT9
ซึ่งแบบสอบถามประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ด้านประชากรศาสตร์ และส่วนที่ 2 การแสดงความเห็นต่อข้อเสนอแนะสำหรับการปรับการเดินรถไฟทางไกลในแต่ละเส้นทาง ตามที่การรถไฟฯ ได้เตรียมการ และทบทวนแผนการเดินรถ ประกอบด้วย ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับการเดินรถไฟทางไกลของการรถไฟฯ เข้า-ออก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และการเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณีให้ผู้โดยสารใช้ตั๋วโดยสารทางไกลเดินร่วมรถไฟชานเมืองสายสีแดง
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมตอบแบบสำรวจ พร้อมให้ข้อเสนอแนะมายังการรถไฟฯ ซึ่งพร้อมน้อมรับทุกความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลมาประกอบนโยบายการบริหารจัดการเดินรถให้เหมาะสม สอดรับกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนการใช้ประโยชน์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้คุ้มค่าสูงสุด และมีการบริการที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยการรถไฟฯ พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีบริการทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง ที่พร้อมเชื่อมโยงทุกจุดหมายทั่วประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ