กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโชว์ผลนำผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นไทยเข้าร่วมงาน CENTRESTAGE 2022 ที่ฮ่องกง ประสบความสำเร็จเกินคาด มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกว่า 30 ราย รวมกว่า 80 นัดหมาย ตกลงซื้อขายรวมกว่า 40 ล้านบาท เผยสินค้าที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ ปกป้องสิ่งแวดล้อม ผ้าไทย ผ้าทอมือ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง เข้าร่วมงานแฟชั่นใหญ่ของฮ่องกง CENTRESTAGE 2022 ซึ่งจัดโดย Hong Kong Trade Development Council เป็นปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. 2565 ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้เปิดตัวสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า และเครื่องประดับไทย ผ่านรันเวย์แฟชั่นโชว์และคูหาประเทศไทย ในรูปแบบ Thai Pavilion ผ่านการจัดงานในรูปแบบ Mirror-Mirror ที่มีการจัด Exhibition ให้ผู้ซื้อได้เห็นและสัมผัสสินค้าของจริงควบคู่ไปกับการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการแบบ Online Business Matching
ทั้งนี้ ในการเข้าร่วมงาน แม้ฮ่องกงจะยังคงมีการใช้มาตรการกักตัวในการเดินทางอยู่ แต่กรมฯ สามารถนำแบรนด์แฟชั่นของไทยเข้าร่วมงาน 34 แบรนด์ เป็นสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจำนวน 330 ชิ้น โดยมี 12 แบรนด์เป็นผลผลิตของโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการแฟชั่นไทย Thailand Qurated Fashion Incubation Project 2022 ของกรมฯ โดยโครงการนี้เป็นการสร้างโอกาสของดีไซเนอร์ไทยสู่ฮ่องกง ซึ่งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของเอเชียไปสู่ตลาดจีน และตะวันตก
นางชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง กล่าวว่า ผลการจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้าจากฮ่องกง จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐฯ เป็นต้น มีการเจรจาจับคู่กว่า 30 ราย รวมกว่า 80 นัดหมาย โดยเบื้องต้นมีการสั่งซื้อทันที 10 ล้านบาท และคาดการณ์ภายใน 1 ปีอีกไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
สำหรับงาน CENTRESTAGE 2022 Asia’s Fashion Spotlight ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Inclusive and Diversity” มีแบรนด์แฟชั่นเข้าร่วมงานกว่า 240 แบรนด์ จาก 15 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 22,500 ราย โดยสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องประดับไทยได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากชาวฮ่องกง ผู้นำเข้า นักธุรกิจ และสื่อมวลชน สินค้าที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ สินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ มีกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เสื้อผ้าที่ใช้ผ้าไทย ผ้าทอมือ เป็นส่วนสำคัญโดยมีการออกแบบที่ทันสมัยสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ในช่วงการจัดงาน คูหาประเทศไทยยังโดดเด่นที่สุดภายในงาน และมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมงานพิธีเปิดคูหาและแฟชั่นโชว์จำนวนมาก เช่น นายริชาร์ด ลี มหาเศรษฐีของฮ่องกง ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่ม Pacific Century Group ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบการสื่อสารโทรคมนาคม สื่อมวลชน ธุรกิจประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ และมีการลงทุนในประเทศไทย (บุตรชายของนายลีกาซิง มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของฮ่องกง) นายเบอร์นาด (ชาญวุฒิ โสภณพนิช) ชาน สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานสภาธุรกิจฮ่องกง-ไทย นายโจนาธาน ซีแมน CEO ของ Lan Kwai Fong Group และมีแขกระดับบุคคลสำคัญทางราชการของฮ่องกง นาย Paul Chan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนักธุรกิจระดับ tycoon ซึ่งเป็น fashion influencers ในวงสังคมของฮ่องกง ตลอดจน buyers KOL และกองทัพสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
ฮ่องกงเป็นคู่ค้าลำดับที่ 12 ของไทย ในปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 14,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.67 มีมูลค่าการส่งออก 11,591 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.65 โดยสินค้าสิ่งทอ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จากไทยไปฮ่องกงในปี 2564 มีมูลค่า 171.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31.73 เป็นสินค้าส่งออกลำดับที่ 18 ของไทยสู่ตลาดฮ่องกง