xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-EFTA ประกาศเปิดเจรจา FTA ประวัติศาสตร์การค้าฉบับแรกกับยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์ที่สร้างประวัติศาสตร์ทางการค้าหน้าใหม่ให้แก่ประเทศไทย นั่นก็คือ การประกาศเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ โดยถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับยุโรป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยทำ FTA มาแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ แต่ไม่มีประเทศในยุโรปแม้แต่ประเทศเดียว

การประกาศเปิดเจรจา FTA ครั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับผู้แทนของ 4 ประเทศสมาชิก EFTA ได้แก่ นางธอร์ดิส โคบรุน เรคเฟรียด กิลฟาดอตติร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไอซ์แลนด์ นางโดมินิค ฮาสเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การศึกษาและกีฬาของลิกเตนสไตน์ นางยานิคกะ อันเดรียอัสเซน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของนอร์เวย์ นางมารี เกเบรียล อินไนเชน เฟลช เลขาธิการสํานักงานกิจการเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ และมีนายอองรี เจทาซ เลขาธิการ EFTA ทำการประกาศเปิดเจรจา ที่ร้านอาหารเองแลนดิงกาวิก (Englendingavík) เมืองบอร์การ์เนส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์

ใช้ความพยายามมานานถึง 20 ปี

นายจุรินทร์กล่าวว่า ต้องถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการค้าของประเทศไทย และเชื่อว่าเป็นประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศสมาชิก EFTA ทั้ง 4 ประเทศด้วย หลังจากใช้ความพยายามในการเจรจา FTA ระหว่างกันมาเกือบ 20 ปี เพิ่งมาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ จึงถือเป็นการประกาศนับหนึ่งในการเริ่มการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับ EFTA โดยตั้งเป้าว่าจะเจรจาให้จบ ภายใน 2 ปี หลังจากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายของแต่ละประเทศต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากประกาศเปิดการเจรจา FTA จะมีการเดินหน้าการเจรจาในทันที โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือที่เรียกว่า SOM ของ EFTA ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28-30 มิ.ย. 2565

“ทุกอย่างจะเดินไปเร็ว เพราะมีนโยบายชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้เร็ว ควรเร่งทำ ยิ่ง FTA ไทย-EFTA บรรลุผลเร็วเท่าไร ประโยชน์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกันของไทยกับกลุ่มประเทศ EFTA ยิ่งเพิ่มมูลค่าระหว่างกันไปเร็วมากยิ่งขึ้น ประโยชน์ที่คนในประเทศทั้ง 5 ประเทศจะได้รับจะมีเพิ่มขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว” นายจุรินทร์กล่าว


มั่นใจหนุนการค้า ลงทุน เศรษฐกิจ

นายจุรินทร์กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ EFTA ในปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าภายหลังจากที่ FTA ประสบความสำเร็จและเริ่มบังคับใช้จะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว เพราะความร่วมมือจะมีทั้งเรื่องความร่วมมือการค้าสินค้า บริการ การลดภาษีนำเข้า-ส่งออกระหว่างกัน รวมทั้งในเรื่องการลงทุน อีคอมเมิร์ซ และการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน และที่สำคัญจะจับมือกันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งจะมีรายละเอียดในเรื่องสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ตามมา

เปิดประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

สำหรับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับไทย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผลการศึกษาของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ที่ได้ศึกษาแล้ว พบว่าการลดภาษีทั้งฝ่ายไทยและ EFTA จะทำให้อัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.178% ต่อปี สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 801 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องมาจากการบริโภคภายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.215% โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 0.96% จากการลดภาษีนำเข้าของฝ่าย EFTA เพราะสินค้าเกษตรหลายชนิดของ EFTA มีการเก็บภาษีนำเข้าที่สูง เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่และเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เป็นต้น รวมทั้งทำให้เกิดการกระจายรายได้ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น และมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 0.165% มาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.142%

สำหรับการลดภาษีสินค้า ผลการศึกษาพบว่าหากไทยลดภาษีนำเข้าให้แก่ EFTA จะทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ Optical Products 2. อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า 3. เคมีภัณฑ์ 4. ผลิตภัณฑ์โลหะ 5. เครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ และหาก EFTA ลดภาษีนำเข้าให้แก่ไทย จะทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์เนื้อจากสัตว์จำพวกไก่ หมู และเครื่องใน 2. ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลา ผัก และผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากแป้ง 3. เครื่องแต่งกาย 4. สิ่งทอ 5. ผลิตภัณฑ์โลหะ

ในด้านการลงทุน พบว่าไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนของ EFTA เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยนำเข้าวัตถุดิบจาก EFTA มาผลิตหรือประกอบในไทยเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชีย

เปิดโอกาสยกระดับมาตรฐาน

ทั้งนี้ ในการจัดทำ FTA ไทย-EFTA จะมีการรวมประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งนางอรมนบอกว่าจะเป็นโอกาสของไทยในการยกระดับมาตรฐานและกฎระเบียบในเรื่องต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นและจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม แต่ในการจัดทำความตกลง FTA ของ EFTA จะคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนา และจะให้ความยืดหยุ่นกับคู่เจรจาที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา และจะต้องมีระยะเวลาในการปรับตัวที่เหมาะสม

เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้พร้อมแล้ว

ทางด้านการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำ FTA นางอรมนกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างประสานกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อขอจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยกองทุนจำเป็นจะต้องได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นหลัก ได้แก่ เงินทุนประเดิม 5,000 ล้านบาท และเงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 120-150 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้กองทุนสามารถดำเนินงานช่วยเหลือได้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

“ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน โดยกรมบัญชีกลาง ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการขอจัดตั้งกองทุน FTA ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้กรมฯ รับข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้กรมบัญชีกลางจัดทำความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และต่อมาวันที่ 11 เม.ย. 2565 คณะกรรมการฯ ได้เสนอผลการพิจารณาการขอจัดตั้งกองทุน FTA ต่อ ครม. และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.ต่อไป” นางอรมนกล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้พัฒนาระบบเตือนภัยทางการค้า (Trade Monitoring System) เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยความผิดปกติทางการค้า และให้สามารถใช้มาตรการปกป้องกรณีที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจนเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ (safeguard) ได้ทันท่วงทีแล้ว


ประชุม JETCO เคาะร่วมมืออังกฤษ 6 ด้าน

ในช่วงการเดินทางไปประกาศเปิดการเจรจา FTA ไทย-EFTA นายจุรินทร์ได้ใช้โอกาสนี้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ไทย-สหราชอาณาจักร (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 1 ร่วมกับนางเพนนี มอร์ดอนท์ รัฐมนตรีด้านนโยบายการค้า กระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ของสหราชอาณาจักร ที่ Central Hall Westminster กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

นายจุรินทร์กล่าวว่า การประชุม JETCO ครั้งนี้ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการเกษตร 2. ด้านดิจิทัล 3. อาหารเครื่องดื่ม 4. ด้านการลงทุน 5. ด้านการค้า และ 6. ด้านการเงิน โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะผลักดันความร่วมมือทั้ง 6 ด้านนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสหรือ SOM ประชุมเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน และให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

“ได้มีการพูดกันว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในรูปแบบ JETCO จะพัฒนาไปเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (Enhanced Trade Partnership : ETP) ซึ่งจะเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าเศรษฐกิจระหว่างกันในเชิงลึกมากยิ่งขึ้นและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จากนั้นจะพัฒนาไปเป็น FTA ต่อไป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ หวังว่าไทยกับ UK จะเป็นฉบับต่อๆ ไป ในการกลายเป็น FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญในยุโรปของไทย” นายจุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ นายจุรินทร์มั่นใจว่าความร่วมมือทั้ง 6 ด้านที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่างไทย-สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรลดลงมาก ปี 2017 ตัวเลข 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปีที่แล้วลดลงเหลือ 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หายไป 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งเป้าว่าควรทำให้กลับมา 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐเหมือนเดิมให้เร็วที่สุด


สวมบทหัวหน้าเซลส์แมนขายสินค้าไทย

นอกเหนือจากภารกิจในการเปิดประตูการค้าให้กับประเทศไทย ผ่านการประกาศเปิดการเจรจา FTA ไทย-EFTA และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหราชอาณาจักร นายจุรินทร์ยังได้สวมบทหัวหน้าทีมเซลส์แมนของประเทศ ทำหน้าที่ขายสินค้าไทย โดยได้พบปะกับผู้บริหารห้างสรรพสินค้า ILLUM (อิลลุ่ม) ในเดนมาร์ก ได้ข้อสรุปว่า ห้างอิลลุ่มยินดีเปิดโอกาสให้ไทยไปจัด In-Store Promotion ทำการส่งเสริมการขายสินค้าลักชัวรีแบรนด์ เพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคกำลังซื้อสูง ตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มวางขายสินค้าไทยได้วันที่ 1 ต.ค. 2565

ขณะเดียวกัน ได้หารือกับผู้บริหารซูเปอร์มาร์เกต MENY (เมนู) ซึ่งมีสาขาทั่วเดนมาร์ก 100 กว่าสาขา และมีสาขาทั่วโลกเกือบ 200 สาขา พบว่าสินค้าไทยยังมีขายน้อย และสินค้าไทยส่วนใหญ่ต้องไปผ่านเทรดเดอร์ในเนเธอร์แลนด์ และไปเปลี่ยนเป็นแบรนด์ของเขา จึงได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ประสานให้มีการสั่งซื้อสินค้าไทยโดยตรง ไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนฉลาก เช่น อาหารสดปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมแบบออร์แกนิก โดยเชื่อว่าจะเปิดตลาดได้ ตั้งเป้านำสินค้าไปวางจำหน่ายได้ภายใน 3-6 เดือน


ทั้งนี้ นายจุรินทร์ยังได้หารือกับภาคเอกชนของไอซ์แลนด์ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าไทยและประสงค์นำเข้าสินค้าไทยมากขึ้นในอนาคต จำนวน 7 ราย ทั้งผู้นำกลุ่มนักธุรกิจสตรีจากไอซ์แลนด์ ชาวไทยบางส่วนที่ทำธุรกิจนำเข้าสินค้า และเจ้าของร้านอาหารไทย ซึ่งมีถึง 14 ร้าน โดยทุกคนมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงเพิ่มขึ้น จากเดิมมีการนำเข้าตรงและบางส่วนนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ หรือสหราชอาณาจักร โดยได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าไอซ์แลนด์กับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยที่ได้คุณภาพมาตรฐานยุโรปผ่านระบบออนไลน์ มั่นใจว่าจะช่วยให้มีการส่งออกตรงไปยังไอซ์แลนด์เพิ่มขึ้น


ปิดดีลที่อังกฤษบิ๊กล็อต 4,600 ล้าน

การทำหน้าที่หัวหน้าทีมเซลส์แมนยังไม่จบเพียงแค่นี้ นายจุรินทร์ได้เป็นประธานลงนาม MOU ระหว่างผู้ประกอบการไทย-สหราชอาณาจักร ที่ห้าง Wing Yip สาขาครอยดอน (Croydon) สหราชอาณาจักร ได้แก่ 1. บริษัท C.P. Trading Group co., Ltd. ลงนามกับบริษัท Manning Impex Ltd สินค้าข้าวหอมมะลิและอาหาร คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 350 ล้านบาท 2.  บริษัท Alisa Inter Co., Ltd. กับบริษัท Thai Tana Ltd. สินค้าอาหารและเครื่องปรุงรส คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 150 ล้านบาท และ 3. บริษัท CPF Co., Ltd. กับ Westbridge Food Group สินค้าไก่แปรรูป คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 4,000 ล้านบาท 4. บริษัท Thai Tana Ltd. กับ บริษัท ท่าเรือมารีน สินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้เป็นประธานจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าอาหารไทยร่วมกับห้าง Wing Yip ในตลาดสหราชอาณาจักร โดยกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-28 มิ.ย. 2565 มีกิจกรรมแจกชิมอาหารไทย ได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วง และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Thai SELECT และสินค้าอาหารไทย ร่วมกับ influencer ในตลาดสหราชอาณาจักร เพื่อกระตุ้นการบริโภคอาหารไทย สร้างการรับรู้อาหารไทย และกระตุ้นให้เกิดการซื้ออาหารไทยและวัตถุดิบอาหารไทยเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีร้านอาหาร Thai SELECT ในยุโรปจำนวน 327 แห่ง จาก 1,500 แห่งทั่วโลก (ข้อมูล ณ มิ.ย. 2565)


มอบตรา Thai Select ร้าน "ครัวไทย"

สำหรับกิจกรรมอื่นๆ นายจุรินทร์ได้มอบประกาศนียบัตรตราสัญลักษณ์ Thai select ให้แก่ “ร้านครัวไทย” ที่เมืองเรคยาวิก สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ ซึ่งร้านครัวไทยเป็นร้านอาหารไทยแห่งแรกในไอซ์แลนด์ที่ได้รับประกาศนียบัตร Thai Select โดยมีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ น.ส.วิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงออสโล นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

“ร้านอาหารไทยในไอซ์แลนด์เป็นอาหารไทยแท้ที่ไม่ดัดแปลงจนเสียอัตลักษณ์ จึงได้ให้ตรา Thai Select ซึ่งเป็นตราการันตีความเป็นอาหารที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทยให้คนไอซ์แลนด์มั่นใจ รวมถึงนักท่องเที่ยว และขอความร่วมมือคนไทยทำอาหารไทยอย่าทำให้เสียความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทย ทั้งนี้ ได้ขอให้ทูตพาณิชย์ที่ดูแลร้านอาหารไทยในต่างประเทศทั้งที่ไอซ์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกำชับและติดตามต่อไปแล้ว” นายจุรินทร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น