รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงการค้ากับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) 20 มิ.ย.นี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งออกสินค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ EFTA
วันนี้ (7 มิ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจาการจัดทำความตกลง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเจรจาในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ประกอบด้วย สมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และ ลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความสนใจที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย กระทรวงพาณิชย์จึงได้หารือร่วมกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) เพื่อจัดทำร่างกรอบการเจรจาขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญมีดังนี้
1) การค้าสินค้า มุ่งเน้นการลด/ยกเลิกอุปสรรคด้านภาษี
2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ปรับปรุงระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้มีความโปร่งใส
3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า
4) มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กำหนดมาตรการเพื่อปกป้องและเยียวยาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมภายในประเทศ
5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช จัดตั้งกลไกการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือ
6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อจัดการกับปัญหาและอุปสรรค
7) การค้าและบริการ กำหนดกฎเกณฑ์การค้าบริการที่มีมาตรฐานสูงในระดับสากล และให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป
8) การลงทุน เปิดเสรีการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ
9) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้า ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
10) ทรัพย์สินทางปัญญา ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของไทย
11) การแข่งขัน ส่งเสริมให้มีนโยบายด้านการแข่งขันที่เป็นธรรม
12) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ส่งเสริมให้มีความโปร่งใส
13) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
14) ความร่วมมือและการเสริมสร้างศักยภาพ ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านเทคนิคและด้านเศรษฐกิจ
15) ข้อบททั่วไป ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานภายใต้ความตกลง
16) การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ ให้จัดตั้งกระบวนการระงับข้อพิพาท เปิดโอกาสให้ใช้อนุญาโตตุลาการสาหรับกรณีพิพาทที่ภาคีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแก้ปัญหากันด้วยการหารือได้
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงการค้ากับ EFTA แล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งออกสินค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ EFTA ได้มากขึ้น เช่น สินค้าเกษตร (ข้าว ข้าวโพดหวาน เนื้อสุกร) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และมีสินค้าที่จะเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น เช่น ปุ๋ยเคมี พลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 0.179 ต่อปี ได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,269 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อาจมีผลกระทบกับบางภาคส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้และผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับมาตรฐานกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการดูแลและเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ ส่งผลให้ไทยมีการค้ากับประเทศที่มี FTA ครอบคลุม ร้อยละ 64 ของการค้าทั้งหมดของประเทศ