วันนี้ (22 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (21 พ.ค.) เวลา 18.00 น. ณ ห้องโลตัส ชั้น 22 โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ สาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอํานวยความสะดวกทางการค้า พร้อมด้วย นางอานา เซซิเลีย เฮร์บาซิ ดิอัซ รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านการค้าต่างประเทศ สาธารณรัฐเปรู, ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า พิธีลงนาม “พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า” ในวันนี้ ถือเป็นความสำเร็จสำคัญของไทยและเปรูที่ได้ร่วมกันดำเนินการเจรจาปรับปรุงกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทย-เปรู มาตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกัน และพร้อมลงนามความสำเร็จในวันนี้
การค้าระหว่างไทยและเปรูในปี 2564 มีมูลค่าเกือบ 15,700 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 24.06 สะท้อนให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของการมีความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างกันนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
“โอกาสนี้ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการด้านการค้าต่างประเทศ กระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู และทีมงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยและเปรู ที่ได้ร่วมกันทำงานตั้งแต่ต้น เพื่อปรับปรุงเอกสารที่จะช่วยให้ FTA ระหว่างไทยและเปรูที่มีอยู่ ทันสมัยและบังคับใช้ได้จริง โดยเฉพาะการปรับปรุงพิธีสารฉบับนี้ ขอประกาศเริ่มพิธีการลงนาม พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า มีสาระสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ การปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อบท กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการค้าในปัจจุบันและในอนาคต อาทิ อนุญาตให้ใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ การลงนามและประทับตราด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มเติมข้อบทให้รองรับการจัดทำหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต เพื่อให้ข้อบทด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-เปรู มีมาตรฐานสูง เท่าเทียมกับความตกลง FTA ฉบับอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังได้ปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า จากระบบฮาร์โมไนซ์ฉบับปี 2550 เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ฉบับปี 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติขององค์การศุลกากรโลกที่มีการปรับโอนพิกัดศุลกากรเป็นประจำทุก 5 ปี ซึ่งจะทำให้ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-เปรู มีความทันสมัย และช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศต่อไป