“จุรินทร์” เผยรัฐมนตรีการค้าเอเปกสนับสนุนการทำ FTA เอเปก ในปี 2040 ระบุหากประเด็นไหนทำได้ก่อนก็ให้ทำเลยเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าปัจจุบัน ต้องเปิดโอกาสให้ SMEs กลุ่มสตรี กลุ่มเปราะบาง ได้มีส่วนร่วม และควรมุ่งเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วน 5 ประเทศวอล์กเอาต์ช่วงรัสเซียแถลงไม่กระทบการประชุม ทุกอย่างยังเรียบร้อย เป็นไปตามเป้าหมาย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (Ministers Responsible for Trade Meeting : MRT) เมื่อช่วงเช้าวันที่ 21 พ.ค. 2565 ว่า ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการทำ FTA เอเปก ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจล้วนแสดงความเห็นสนับสนุนให้เดินหน้าร่วมกันไปสู่การจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีเอเปก (FTAAP) หรือ FTA APEC ในปี 2040 ให้ได้ และมีความเห็นเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ คือ ประเด็นไหนถ้าสามารถทำได้ก่อนก็ให้ทำโดยไม่จำเป็นต้องรอปี 2040 ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้มีการหารือกันต่อไป เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่มีความคืบหน้ากว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ทุกประเทศยังเห็นตรงกันว่าการทำ FTA ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ควรจะเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างความยั่งยืน โดยควรเปิดโอกาสให้ SMEs หรือกลุ่มสตรี กลุ่มเปราะบางต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการในรายละเอียดของข้อตกลงที่จะจัดทำต่อไป และหลายเขตเศรษฐกิจมีความเห็นตรงกันว่าการจะทำ FTA ควรให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะถือว่าเป็นยุคที่มีความจำเป็นที่ต้องมุ่งเน้นในเรื่องอีคอมเมิร์ซ เน้นการอำนวยความสะดวกและการลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเตรียมการสำหรับเผชิญกับโรคร้ายในอนาคตถ้ามีอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมีประสบการณ์จากการฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นที่มี 5 ประเทศได้วอล์กเอาต์ในระหว่างที่รัสเซียกล่าวถ้อยแถลง ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย โดยนายจุรินทร์กล่าวว่า การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในฐานะประธานที่ประชุมมั่นใจว่าการประชุมทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้ดีตามเป้าหมาย ส่วนเขตเศรษฐกิจไหนจะมีความเห็นอย่างไร ดำเนินการอย่างไร เป็นเรื่องของแต่ละเขต แต่ในภาพรวมของการประชุมเอเปกทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดี และเป็นไปตามเป้าหมายทุกอย่าง
สำหรับแถลงการณ์ร่วม จะเป็นความเห็นร่วมกันของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิก ยังไม่สามารถตอบล่วงหน้าทั้งหมดได้ แต่จะต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ทุกเขตเศรษฐกิจกำลังพิจารณารายละเอียดของแถลงการณ์ร่วม หากออกไม่ได้ ก็จะเป็นความเห็นแถลงการณ์ของประธานการประชุม ซึ่งไทยไม่กังวล ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยัน คือ ประเทศไทยทำหน้าที่ของเราดีที่สุด ทุกประเทศชมว่าเราทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพได้เป็นอย่างดี ไม่มีข้อตำหนิ แต่ผลจะเป็นอย่างไรต้องทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีความเห็นร่วมกัน ซึ่งไทยไม่กังวล ยังสามารถควบคุมกำกับการประชุมได้ และทุกอย่างมั่นใจว่าราบรื่น