“จุรินทร์”เผยซาอุดิอาระเบียไฟเขียวเพิ่มอีก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ รวมเป็น 3 ราย เจรจาซื้อขายปุ๋ยกับไทย เผยเบื้องต้นเสนอซื้อรวม 8 แสนตัน นัดเจรจาทันที 29 มิ.ย.นี้ พร้อมเตรียมจัดจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าซาอุดิอาระเบียที่จะเดินทางมาไทยกว่า 100 รายกับผู้ส่งออกไทยไม่ต่ำกว่า 120 ราย ช่วง 4-6 ก.ค. เพิ่มยอดส่งออก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในโอกาสที่คณะนักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย จะเดินทางมาเยือนไทย ว่า ได้เชิญภาคเอกชนมาประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเตรียมการนำเข้าปุ๋ยอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่นายกรัฐมนตรีนำคณะภาครัฐและเอกชนเปิดสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย มีความคืบหน้าทั้งการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำคณะไปเยือนซาอุดีอาระเบีย และจากนี้ไป จะเป็นกิจกรรมเชิงลึกด้านการค้าที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติม
โดยประเด็นที่หารือในวันนี้ คือ การนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งปกติไทยนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ คือ บริษัท SABIC (Saudi Basic Industries Corporation) ซึ่งมีผลผลิตปุ๋ยยูเรียปีละ 2.2 ล้านตัน และไทยเป็นลูกค้ารายสำคัญของบริษัท ซึ่งข่าวดีขณะนี้ ทางการซาอุดีอาระเบียได้เปิดโอกาสให้บริษัทที่ผลิตปุ๋ยอีก 2 บริษัทสามารถเจรจาขายปุ๋ยให้กับไทยได้ จะมี 3 บริษัทใหญ่นอกจาก บริษัท SABIC จะมีบริษัท MA'ADEN (Saudi Arabian Mining Co.) และบริษัท ACO group ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Alim Investment Co. Ltd. Saudi Arabia เป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ลำดับต้นของซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ ไทยได้มีการรวบรวมตัวเลขผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมการค้าปุ๋ยไทย เบื้องต้นมีความประสงค์ซื้อปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียรวม 8 แสนตัน เป็น ยูเรีย 5.9 แสนตัน ปุ๋ยฟอสเฟต 1.93 แสนตัน และปุ๋ยโพแทสเซียม 2.5 หมื่นตัน โดยในวันที่ 29 มิ.ย.2565 กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะจัด Business Matching จับคู่ธุรกิจให้มีการพบกันระหว่างผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ 3 รายของซาอุดิอาระเบียกับผู้นำเข้าปุ๋ยของไทยทั้งหมดที่สนใจ ช่วยให้การเจรจาซื้อปุ๋ยจากซาอุดิอาระเบียเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหา 2 ข้อ คือ 1.ให้ไทยมีปริมาณปุ๋ยพอใช้สำหรับเกษตรกร มีหลักประกันมากขึ้น เพราะมีแหล่งนำเข้าพิเศษเพิ่มเติม และ 2.เรื่องของราคาให้เป็นหน้าที่ของเอกชนเจรจา หวังว่าจะได้ต้นทุนที่ต่ำลงเป็นกรณีพิเศษจากความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน
ส่วนอีกเรื่อง เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียจะเดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยมีหอการค้าไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตอบรับกิจกรรมการค้าการลงทุนระหว่างกันในช่วงวันที่ 4-6 ก.ค.2565 โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าของซาอุดีอาระเบียที่เดินทางเข้ามาไทยประมาณ 100 ราย และผู้ส่งออกไทยร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 120 ราย ที่ห้างไอคอนสยาม เพื่อจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างกัน หวังว่าจะเพิ่มยอดตัวเลขการส่งออกของไทยไปซาอุดิอาระเบียมากขึ้น ซึ่งมีสินค้าที่มีความหลากหลายทั้งสาขาโทรคมนาคม ไอที ท่องเที่ยว อัญมณี อาหาร เสื้อผ้า แฟชัน สุขภาพความงาม และบริการโลจิสติกส์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กำลังเดินหน้าเตรียมจัดกิจกรรมเจรจาการค้าสินค้าปุ๋ยกับ 3 บริษัทปุ๋ยยักษ์ใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย ทั้งบริษัท MA'ADEN (Saudi Arabian Mining Co.) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตแร่ธาตุรายใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย บริษัท ACO group ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Alim Investment Co. Ltd. Saudi Arabia ผู้ผลิตปิโตรเคมีและโพลิเมอร์รายใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย และบริษัท SABIC (Saudi Basic Industries Corporation) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ เช่น ปิโตรเคมี โพลิเมอร์ ปุ๋ย และโลหะรายใหญ่ของโลก เพื่อหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทนแหล่งเดิมที่มีปัญหาจากผลกระทบของสงคราม ป้องกันปัญหาปุ๋ยขาดแคลน ซึ่งปัจจุบันได้ประสานไปยังรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเพื่อพิจารณาแล้ว และได้รับคำยืนยันว่าซาอุดีอาระเบียยินดีที่จะส่งออกปุ๋ยมาตามจำนวนที่ประเทศไทยต้องการ
ปี 2564 การค้าไทย-ซาอุดีอาระเบีย มีมูลค่า 233,075 ล้านบาท ซึ่งไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย มูลค่า 51,500 ล้านบาท และนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 181,524 ล้านบาท โดยปี 2565 คาดว่าจะส่งออกเพิ่มเป็นมูลค่า 54,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2%