xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.จับมือ "กขค." วางกรอบส่งเสริมการแข่งขันกิจการพลังงานลดผูกขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จับมือสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จัดเวทีระดมความคิดเห็น มุ่งลดการผูกขาดส่งเสริมการแข่งขัน สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ใช้พลังงาน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ.จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการกํากับตลาดและส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน ให้แก่ผู้บริหาร บุคลากร เจ้าหน้าที่ สำนักงาน กกพ. สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ เพื่อถ่ายทอดมุมมอง และประสบการณ์ จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นในการวางกรอบ การกำกับดูแล เพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันกิจการพลังงานร่วมกัน

"การจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อวางกรอบการลดปัญหาการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงาน กกพ. และสำนักงาน กขค. ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการกำกับดูแลการแข่งขันในการประกอบกิจการพลังงานร่วมกันก่อนหน้านี้ โดยมุ่งหวังว่าจะสร้างกรอบแนวทางในการกำกับดูแลกิจการพลังงานร่วมกัน โดยคาดหวังว่าจะสร้างความชัดเจนให้แก่ผู้ประกอบการและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้ใช้พลังงาน" นายคมกฤชกล่าว

ในเวทีจะมีกิจกรรมสำคัญคือ 1. การเสวนาหัวข้อ “แนวโน้มการกํากับดูแลตลาดและการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ” และหัวข้อ “บทเรียนจากการจัดหาไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” 2. การเสวนาหัวข้อ “การกํากับและการควบคุมการตลาด (Market domination)” และหัวข้อ “การควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A)” และ “single firm” 3. การเสวนาหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการดําเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า” อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงาน กกพ.จะได้มีการสรุปความคิดเห็น รวมทั้งมุมมองและประสบการณ์ทั้ง 2 หน่วยงานไปเป็นข้อมูล สำหรับวางแนวทางในการกำกับกิจการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงาน กกพ.มุ่งเน้นการกำกับดูแลเพื่อที่จะส่งเสริมให้กิจการพลังงานเกิดการแข่งขันใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ข้อมูลสำคัญมาก ธุรกิจหรือคนแข่งใหม่ๆ จะได้ตัดสินใจได้ เพราะข้อมูลมีค่าใช้จ่าย หายาก 2. ตัวระเบียบพอรายเล็กมาปฏิบัติกลายเป็นภาระ 3. การเข้าไปบังคับใช้ตัวระเบียบให้เกิดประสิทธิภาพ

“การกำกับดูแลแล้วไปทำให้เขาผูกขาดอย่างถูกต้อง นี่ต้องระวัง ต้องหาทางส่งเสริมเพื่อแข่งขัน บางครั้งกฎหมายรองที่เราออกมา เช่น ไฟฟ้า บางทีไปกีดกันรายเล็กๆ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนโดยที่เราเองอาจไม่รู้ตัวเช่นระเบียบที่ยุ่งยากกว่าจะขออนุญาตได้ยาวมาเป็นปึเลย รายเล็กเขาก็ไม่อยากทำ กรณีอุทธรณ์เร่งด่วน 3 วันกลายเป็น 90 วันล้มละลายไปแล้ว ยกตัวอย่างแบบนี้ไม่ไหว แข่งขันไม่เท่ากัน” นายเสมอใจกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น