xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางวิบาก "โรงไฟฟ้าชุมชนฯ" 43 รายลุ้น "ป.ป.ช." ชี้ชะตาไปต่อหรือโมฆะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากเอ่ยถึงโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากหรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "โรงไฟฟ้าชุมชน" นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีเส้นทางค่อนข้างวิบากไม่น้อย แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหมที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อ 25 กรกฎาคม 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนได้มีหุ้นส่วนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ชาวบ้านมีรายได้จากการขายพืชพลังงาน ฯลฯ แต่โครงการนี้ก็ต้องฝ่าอุปสรรครอบด้าน

เมื่อมองย้อนไปโครงการนี้ผู้ที่ผลักดันและเป็นต้นคิดคือ "นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" รมว.พลังงานในขณะนั้น ที่ชูนโยบาย Energy For All เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงพลังงานทั้งการมีพลังงานใช้ และเป็นได้ทั้งเจ้าของธุรกิจพลังงาน ลบภาพกลุ่มทุนผูกขาดธุรกิจพลังงาน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากโดยการบรรจุไว้ในร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 rev1 ด้วยการเพิ่มโรงไฟฟ้าชุมชนกำลังการผลิต 1,933 เมกะวัตต์ (ปี 2563-67) ทยอยเข้าระบบล็อตแรกปี 2564-65 จำนวน 700 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็นประเภทควิกวิน 100 เมกวัตต์ และทั่วไป 600 เมกะวัตต์)

แต่การประกาศรับซื้อกลับไม่คืบหน้าเพราะร่างพีดีพีปรับปรุงใหม่ไม่สามารถฝ่าด่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เสียที แม้ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการกำหนดเกณฑ์และไทม์ไลน์ไว้แล้วเบื้องต้นก็ตาม และการรอคอยเฉพาะการผ่าน ครม.ใช้เวลาร่วม 3 เดือนจนกระทั่ง "สนธิรัตน์" ต้องเป็นฝ่ายลาออกไปเสียเอง โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2563 ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และวันที่ 16 ก.ค. 2563 ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ต่อมา “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้เข้ามาพิจารณาโรงไฟฟ้าชุมชนที่เป็นงานค้างท่ออยู่ด้วยการประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ทั้งหมดซึ่งได้ฤกษ์ออกประกาศระเบียบเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศเชิญชวนรับชื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) กำหนดเป้าหมายรับซื้อเพียง 150 เมกะวัตต์ โดยวางกรอบให้ยื่นข้อเสนอต่อการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2564

ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ จำนวน 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพขนาดไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ จำนวน 75 เมกะวัตต์ มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าชีวมวลขนาดเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ อัตรา Feed-in tariff (Fit) ที่ 4.8663 บาทต่อหน่วย และขนาดที่เสนอขายเกิน 3 เมกะวัตต์ อัตรา Fit ที่ 4.2780 บาทต่อหน่วย ส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพขนาดเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ อัตรา Fit ที่ 4.7426 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FitPremium พื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาทต่อหน่วย

รูปแบบการร่วมทุน ได้แก่ ผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 90% วิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและมีสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ถือหุ้นในสัดส่วน 10% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิ) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนวิธีคัดเลือก พิจารณาข้อเสนอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและด้านราคาที่เป็นการแข่งขัน (Competitive Bidding) โดยผู้ยื่นเสนอโครงการจะต้องเสนอส่วนลดในส่วนของ FiT คงที่ ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยผู้ที่เสนอส่วนลดสูงสุดจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ เป็นต้น

การคัดเลือกแม้จะมีการเลื่อนระยะเวลาไปบ้างแต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ก็ได้เปิดเผยรายชื่อ 43 ราย (ดูตาราง) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ (โครงการนำร่อง) คิดเป็นปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.1831 บาทต่อหน่วย) แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลจำนวน 16 ราย ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายรวม 75.00 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 2.7972 บาทต่อหน่วย) และโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทก๊าซชีวภาพรวม 27 ราย ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายรวม 74.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.5717 บาทต่อหน่วย)


กระบวนการน่าจะจบลงได้ด้วยดี แต่แล้วก็มีเหตุให้ต้องสะดุดอีกครั้งเนื่องจากมีผู้ไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือกฟภ.(PEA) ในฐานะทำหน้าที่ประธานกรรมการคัดเลือกทางเทคนิค ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ หรือโดยทุจริต กรณีคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ นำร่องโดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการบางรายแม้จะใช้ TOR ที่ กกพ.เป็นผู้ร่างและประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาก็ตาม โดย ป.ป.ช.ได้ลงทะเบียนรับเรื่องกล่าวหาเมื่อ 5 ตุลาคม 2564 โดยได้แจ้งและให้ กฟภ.ส่งเอกสารชี้แจงเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 และ กฟภ.ก็ได้ส่งเรื่องชี้แจงไปแล้วตั้งแต่ 8 มีนาคม 2565

ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทาง กกพ.จึงต้องประกาศเลื่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าครั้งแรกออกไป 30 วันหรือภายในวันที่ 20 ก.พ. 65 และต่อมาได้มีการเลื่อนการพิจารณาลงนามครั้งที่ 2 อีก 60 วันจากวันที่ 20 ก.พ. 65 เป็นภายในวันที่ 21 เม.ย.นี้ และล่าสุดทาง กกพ.ได้ประกาศเลื่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นครั้งที่ 3 ออกไปจนถึงวันที่ 2 ก.ค. 65 รวมเป็นการเลื่อนลงนาม 162 วันโดยระบุเหตุผลของการเลื่อนว่าเป็นไปตามข้อเสนอของ กฟภ. ....ซึ่งหากมองไทม์ไลน์แล้วเหตุผลที่แท้จริงของ กฟภ.ก็มาจากการพิจารณาของสำนักงาน ป.ป.ช.ยังไม่สิ้นเสร็จนั่นเอง

ดังนั้น ระหว่างทางนี้จึงเป็นที่จับตาว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ นำร่อง 150 เมกะวัตต์จะก้าวไปในทิศทางไหนแน่ เนื่องจากทราบเหตุผลของการร้องเรียนคือการกล่าวหาว่าผลการคัดเลือกโครงการดังกล่าวว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐพ.ศ. 2542 โดยมองว่าบริษัทมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัทผู้ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าโครงการ โดยมีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งก็น่าจะเป็นการพุ่งเป้าไปยังโครงการประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่มีผู้เสนอบางรายได้ไปทั้งหมด 18 โครงการจากบริษัทในเครือ ซึ่งหากมองในแง่ระบียบ กกพ.แล้วไม่มีระบุถึงเงื่อนไขที่ชัดเจนนักในเรื่องกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวกันถือหุ้นหลายโครงการ ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาด้านการแข่งขันที่กำหนดราคาเป็นที่ตั้งว่าหากเสนอต่ำสุดย่อมได้รับการคัดเลือกนั้น กลุ่มที่ได้รับคัดเลือกหลายโครงการก็พบว่าเมื่อมีการเสนอขายไฟเข้าระบบสายส่งก็แข่งขันกับรายอื่นๆ ไม่ได้แข่งขันกันเอง

สุดท้ายไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายต่างมองว่า "โรงไฟฟ้าชุมชน" นำร่องมีโอกาสที่จะยืดเยื้อต่อไปโดยไม่จบง่ายนัก เพราะหาก ป.ป.ช.ตรวจสอบและเสนอความเห็นดำเนินการถูกต้อง ก็อาจเป็นไปได้ที่ผู้ร้องเรียนหรือเจ้าของโครงการจะไม่พอใจผลการตัดสินก็อาจนำเรื่องไปร้องเรียนต่อศาลปกครองต่อไป ซึ่งก็จะต้องใช้เวลาอีกเป็นปี แต่หากตรวจสอบแล้วมีมูลก็อาจจะตัดสิทธิผู้ที่ถูกร้องเรียนแล้วอาจเลื่อนโครงการรายอื่นที่ได้คะแนนรองลงมาแทน หรือไม่อาจจะต้องประกาศยกเลิกประกาศผลทั้ง 43 ราย

ทั้งนี้ เอกชนส่วนใหญ่ต่างมองว่ารายที่ไม่เกี่ยวข้องย่อมไม่ควรจะต้องถูกพิจารณาตัดสิทธิแต่อย่างใด ขณะเดียวกันเพื่อลดผลกระทบ กฟภ.ควรจะพิจารณาให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทที่ได้รับการประกาศรายชื่อและไม่ถูกร้องเรียนในครั้งนี้โดยทันที เพราะไม่มีความผิดและไม่ได้ถูกร้องเรียนเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อไม่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทำให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกยังไม่ได้ไปวางเงินมัดจำกับเจ้าของที่ดินในการพัฒนาโครงการส่งผลให้เบื้องต้นมีเจ้าของที่ดินบางรายเปลี่ยนใจจะไม่ขายที่ดินให้แล้ว และบางรายขยับราคาที่ดินขึ้น หากการจัดหาที่ดินไม่ได้ย่อมอาจต้องมีการทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลง Feeder ใหม่ ปัญหาจะวุ่นวายเพิ่มไปอีก

ดังนั้น การเลื่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟรวม 3 ครั้งและมีแนวโน้มอาจยืดเยื้อต่อไปอีกได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อภาครัฐในการทำโครงการต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะหากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ นำร่อง 150 เมกะวัตต์ยังไปไม่ถึงไหนก็ทำใจว่าโครงการเฟสต่อไปที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ว่าจะเปิดรับซื้อ 400 เมกะวัตต์ (เฟส 2) ในปลายปีนี้คงจะเป็นไปได้ยากแล้ว ....โดยมองข้ามช็อตกันไปไกลว่าอาจต้องรอหลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโครงการนี้นับว่าจะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนโดยเฉพาะผู้ที่ปลูกพืชพลังงาน เม็ดเงินการลงทุนที่จะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของประเทศที่ไม่ต้องไปกู้เงินมาขับเคลื่อน...แต่ก็ต้องล่าช้าออกไปอีกแล้ว!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น