xs
xsm
sm
md
lg

ร้อนจัด!ยอดใช้ไฟพุ่งเกิดพีคใหม่วันนี้แตะ3.08หมื่นเมกะวัตต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาพอากาศร้อนจัดวันนี้ ส่งผลให้ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่ง เกิดพีคใหม่ในปีนี้อีกครั้งแตะ 30,880 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่ทำลายสถิติสูงสุดก่อนโควิดในปี 62 ที่ทำไว้เมื่อ 3 พ.ค.ที่ระดับ 32,272.8 เมกะวัตต์ จับตาการใช้น้ำมันในโรงไฟฟ้าเคว้งหลังการตีความยกเว้นภาษีของกระทรางการคลังไม่เคลียร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(27เม.ย.) จากภาวะอากาศร้อนจัด ประกอบกับเศรษฐกิจฟื้นตัวโรงงานต่างๆมีการผลิตสินค้าส่งออก ทำให้ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือ Peak (พีค)ในปีนี้ในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เกิดขึ้นเวลา 15.40 น. โดยมียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 30,880 เมกะวัตต์ ส่วนในระบบของประเทศที่รวมถึง ระบบ กฟผ.และของเอกชนอื่นๆ ทาง สำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)รายงานว่าเกิดขึ้น เมื่อเวลา 14.38 น. ความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,106 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม พีคไฟฟ้าในปัจจุบันส่วนใหญ่จะอยู่ในระหว่างกลางคืนประมาณ20.00-21.00 น. จึงคาดว่าความต้องการไฟฟ้าจะสูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตามพีคในปีนี้ยังไม่ทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดโควิด -19 โดยอยู่ที่ 32,272.8 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.62 เวลา 14.27 น.

แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติถึง 60% แต่ปริมาณก๊าซในประเทศทีลดลง โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณที่ปริมาณต่ำกว่าแผนการผลิตทำให้ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)ตลาดจร (สปอต)สูงถึง4.5 ล้านตัน ขณะที่ ปตท.นำเข้าในสัญญาระยะยาวอีก 5.2 ล้านตัน นั้นการนำเข้าด้วยราคาตลาดจรจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน เพราะไม่สามารถจัดหาได้ในราคาต่ำอย่างทีควรจะเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภาวะสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่มีการคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้ต้นปีราคาแอลเอ็นจีทำสถิติสูงสุดถึงระดับ 70 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และล่าสุดรัสเซียแจ้งระวังการส่งก๊าซฯให้กับโปแลนด์และบัลแกเรีย มีผลวันที่27 เมษายน ดังนั้น ปตท.จึงเสนอ กกพ.ว่าควรทำสัญญาระยะยาวตามสูตรความมั่นคงด้านพลังงานเดิมที่วงการพลังงานเคยหารือกันไว้คือเป็นสัญญาระยะยาว 70% และตลาดจร 30% แต่ทาง กกพ.ไม่เห็นด้วย และยังคงส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันนำเข้าต่อไป

สำหรับกรณีที่น้ำมันดีเซล และเตาไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า ยังเกิดมาจากปัญหาที่ กระทรวงการคลังมีความไม่ชัดเจนเรื่องการยกเว้นภาษีน้ำมันตามมติ คณะรัฐมนตรี 8 มี.ค.65 ที่เห็นชอบมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าเหลือ 0% เป็นเวลา 6 เดือน จนถึงเดือนกันยายน 65 โดยมีการตีความว่าให้ยกเว้นภาษีเฉพาะน้ำมันที่ผลิตจากโรงกลั่นเท่านั้น ส่วนน้ำมันที่นำเข้าที่เก็บตามคลังน้ำมันต่างๆไม่มีการยกเว้นภาษีแต่อย่างใด โดยเดิมนั้น ครม.มีเจตนายกเว้นภาษีเพื่อเพื่อให้โรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิง 2 ประเภทนี้ แทนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า 1-1.50 บาทต่อหน่วย กระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจาก LNG มาเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ทำให้หลังจากนี้จะต้องมีการนำเข้าน้ำมันดีเซล 200 ล้านลิตรต่อเดือน และน้ำมันเตา 35 ล้านลิตรต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน คิดเป็นเงินภาษี 7 พันล้านบาท โดยเงินในส่วนนี้ได้นำไปช่วยในการตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น