“ส.อ.ท.” ผวาชิปขาดรุนแรงกระทบการผลิตรถยนต์ทั่วโลกรวมถึงไทยหลังการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกระทบวัตถุดิบการผลิตชิป ดันราคาพุ่ง เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิดยอมรับหวั่นกระทบการส่งออก รอประเมินอีก 1-2 เดือนข้างหน้าว่าจะคงเป้าหมายการผลิตปี 65 ที่ 1.8 ล้านคันได้หรือไม่
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มฯ กำลังติดตามสถานการณ์ภาวะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่จะกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกและไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนชิปรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เพราะยูเครนเป็นผู้ส่งออกก๊าซนีออน (Neon) บริสุทธิ์เกือบ 70% ให้กับทั่วโลกเพื่อแกะแบบแผงวงจรให้เป็นแผ่นซิลิกอนเวเฟอร์ (Silicon Wafer) เพื่อใช้ผลิตชิป
“ก่อนหน้านี้ปัญหาการขาดแคลนชิปก็มีอยู่แล้วแต่คิดว่าน่าจะทยอยดีขึ้น พอมีปัญหานี้เข้ามาก็ทำให้ภาวะการขาดแคลนยิ่งเพิ่มไปใหญ่ มองว่าภาวะขาดแคลนจะยาวไปถึงสิ้นปี 2566 เป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกันผลพวงดังกล่าวทำให้ราคาก๊าซนีออนสูงขึ้นมาก ก็เป็นปัจจัยทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ทั่วโลกจะสูงขึ้น โดยคงจะต้องติดตามว่าสถานการณ์สู้รบจะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใดหากยืดเยื้อก็จะยิ่งกระทบมากขึ้น” นายสุรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาชิปขาดยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก โดยล่าสุดค่ายรถบางยี่ห้อในญี่ปุ่นได้ประกาศลดการผลิตลง 20% ในช่วงเดือน เม.ย. พ.ค.และ มิ.ย. 65 นี้ และพบว่ารถเก่าในญี่ปุ่นกำลังขายดีขึ้น ส่วนประเทศอื่นๆ รถยนต์บางรุ่นต้องใช้เวลารอนานนับปี ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนไม่เพียงกระทบต่อชิป หากแต่วัตถุดิบต่างๆ โดยเฉาะเหล็กก็มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึง พลาสติก ที่มาจากปัญหาราคาน้ำมันแพง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยต่อต้นทุนการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทำให้บางประเทศเริ่มมีการปรับราคารถยนต์รุ่นใหม่แล้ว ส่วนไทยนั้นยอมรับว่าขณะนี้การแข่งขันค่อนข้างรุนแรงมีทั้งลด แลก แจก แถม การปรับราคาอาจไม่ง่ายแต่หากต้นทุนขยับสูงมากที่สุดก็ต้องพิจารณาเช่นกัน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ปี 2565 กลุ่มฯ ได้วางเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไว้ทั้งหมด 1.8 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคัน ผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคันจากปี 2564 ที่ผลิตได้ 1.68 ล้านคันยอมรับว่าคงจะต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจไทยและโลกใกล้ชิดเนื่องจากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันต่อเศรษฐกิจโดยรวม หากยืดเยื้อและยิ่งบานปลายไปยังพื้นที่อื่นก็จะยิ่งส่งผลกระทบหนักขึ้น ดังนั้นคงจะต้องติดตามสถานการณ์ภาพรวมอีก 1-2 เดือนหรือตัวเลข มี.ค.-เม.ย.ก็คงจะเห็นภาพชัดเจนถึงแนวโน้มการผลิตรถยนต์
“ยอมรับว่าค่อนข้างกังวลว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพราะในเดือน ม.ค. 65 การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ปรับตัวลดลงจากเดือน ธ.ค. 64 และ ม.ค. 64 ซึ่งมาจากปัญหาการขาดแคลนชิป โดยขณะนั้นการประเมินไม่คิดว่าการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะเกิดขึ้นรวดเร็ว แม้วันนี้ดูสถานการณ์จะคลี่คลายบ้าง ราคาน้ำมันปรับลดแต่ก็ยังคงไม่ชัดเจน มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ก็ยังคงอยู่ ซึ่งการขาดชิปโชคดีที่ไทยเป็นฐานผลิตรถปิกอัพที่ใช้ชิปน้อย และปัญหาชิปขาดนี้ก็จะกระทบต่อการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อีกด้วยที่ต้องติดตามใกล้ชิดเช่นกัน” นายสุรพงษ์กล่าว