xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ส่งซิกอีก 3-6 เดือนสินค้าทยอยขึ้นวิกฤตน้ำมันดันต้นทุนพุ่ง-แนะรัฐอุ้มพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.ส่งสัญญาณอั้นไม่อยู่ราคาสินค้าทยอยขยับอีก 3-6 เดือนตามต้นทุนราคาน้ำมันพุ่งสูง วัตถุดิบหลายรายการมีปัญหาจากวิกฤตการสู้รบในรัสเซีย-ยูเครน เหตุสต๊อกเก่าเริ่มทยอยหมดลง แนะรัฐดูแลหนุนตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตร คงค่าไฟ ฯลฯ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสยกเลิก Test & Go ฟื้นท่องเที่ยว ดึงลงทุนย้ายฐานมาไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 86.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.0 ในเดือน ม.ค. และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เป็นปัจจัยใหม่เข้ามาขณะนี้เป็นสิ่งที่ส.อ.ท.ติดตามใกล้ชิดและกังวลมากเพราะจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากระดับราคาพลังงานที่สูง ดังนั้นจึงเห็นว่าภาครัฐจำเป็นต้องดูแลราคาพลังงานที่จะไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

“ผลสำรวจเอกชนได้เสนอให้รัฐออกมาตรการดูแลราคาพลังงาน ซึ่งเห็นว่ารัฐควรจะยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเพราะเป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการประหยัดก็ต้องทำควบคู่กันไป เช่นเดียวกับราคาก๊าซหุงต้มหากดูแลไม่ให้ขึ้นได้ก็จะส่งผลดีต่อประชาชน รวมถึงการคงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft)” นายสุพันธุ์กล่าว


อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์วิกฤตยูเครน-รัสเซียนั้นภาครัฐควรมองเป็นโอกาสในการดึงนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวและยังเผชิญกับราคาพลังงานที่สูงขึ้นมา ท่องเที่ยวในไทยควรพิจารณายกเลิกมาตรการ Test & Go โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ตแทนก่อนเข้าประเทศ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบตรวจติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทยซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย 5-6 ล้านคนได้ นอกจากนี้ควรพิจารณาเร่งดึงการลงทุนเข้าไทยเพื่อให้เกิดการย้ายฐาน


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.และในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้สำรวจความเห็นจาก 26 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. มีการค้ากับรัสเซียต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย พบว่าส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางอ้อมที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ค่าระวางเรือ และวัตถุดิบต่างๆ ที่สูงขึ้น เช่น นิกเกิล ข้าวสาลี ข้าวโพด ฯลฯ เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตภาพรวมเพิ่มสูง ดังนั้นคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์ใหม่) มีแนวโน้มต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่สูงเกือบทั้งหมด

"น้ำมันขึ้นทุก 1 เหรียญจะมีผลต่อราคาขายปลีกไทยขึ้น 25 สตางค์ต่อลิตรแต่ต้นทุนการผลิตยังมีอื่นๆ ทั้งวัตถุดิบ ชิ้นส่วนฯ ก่อนหน้านั้นทาง ส.อ.ท.ได้ขอให้สมาชิกช่วยตรึงราคาสินค้าแต่ยอมรับว่าสต๊อกเก่าที่มีอยู่เริ่มร่อยหรอลงซึ่งแต่ละรายต้นทุนและสต๊อกก็ต่างกันไป ภาพรวมในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าราคาสินค้าคงจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ย ที่คาดว่าจะปรับขึ้นในอีก 1-2 เดือนนี้หลังจากรัสเซียห้ามส่งออกปุ๋ย" นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ยังคงกังวลหากมีการปิดท่อก๊าซฯที่จะส่งไปยังอียูซึ่งอาจกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเยอรมนีที่มีการผลิตอุตสาหกรรมหนักจำนวนมากที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงการคว่ำบาตรที่จะทำให้แร่ธาตุต่างๆ ในการผลิตที่มาจากรัสเซียและยูเครนเกิดชะงักงัน เหล่านี้อาจกลายเป็นโดมิโนซัปพลายเชน รวมไปถึงระดับราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนระดับสูง ดังนั้นหากภาครัฐตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตรต่อไปก็จะเป็นสิ่งที่ดี

“ก่อนหน้านี้รัฐได้ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงไป 3 บาทต่อลิตรยังคงเหลือเก็บอยู่ราว 3.20 บาทต่อลิตรจุดนี้อาจนำมาดูแลได้ แต่ก็เข้าใจว่าถ้าน้ำมันดิบตลาดโลกที่เริ่มมีการพูดกันไปถึงระดับ 300 เหรียญต่อบาร์เรลเกิดขึ้นจริงการตรึงไว้ระดับเดิมก็คงจะไม่ไหวเช่นกัน” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น