xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนผวาปุ๋ยขาด-ราคาแพงกดดันภาคเกษตรจับตาราคาอาหารขึ้นราคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคเอกชนมองไทยเผชิญเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงขึ้นจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ผวารัสเซียตอบโต้ชาติตะวันตกงดส่งออกสินค้า 200 รายการ หวั่นห่วงโซ่การผลิตโลกปั่นป่วน ขณะที่ปุ๋ยราคาแพง กดดันภาคเกษตรทั่วโลกรวมถึงไทยซึ่งจะกระทบต่อการขาดแคลนภาวะอาหารของโลกได้ รับราคาสินค้าอาหารภาพรวมหนีไม่พ้นต้องขอปรับขึ้นราคาเหตุต้นทุนรอบด้านขยับเพิ่ม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
เปิดเผยในงานสัมมนา “Morning Talk “ครั้งที่ 2 “ทิศทางอุตสาหกรรมไทยไปต่ออย่างไรภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อ” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ว่า ไทยกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Recession)ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะรุนแรงขึ้นเนื่องจากมีปัจจัยการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเป็นตัวเร่งจากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้นซึ่งแม้ว่าการสู้รบในระยะต่อไปอาจจะจบลงได้แต่สิ่งที่จะอยู่นานคือมาตรการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะล่าสุดที่รัสเซียตอบโต้ด้วยการห้ามส่งออกสินค้า200รายการไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อยกับชาติตะวันตกหรือประเทศที่ไม่เป็นมิตรซึ่งอาจส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตปั่นป่วน ขาดแคลน ซึ่งจะยิ่งกดดันภาวะเงินเฟ้อของโลกและไทยมากขึ้น

“ เราเผชิญคลื่นเศรษฐกิจตั้งแต่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมดิจิทัลหรือ Digital Disruption สงครามการค้า ภาวะโลกร้อน และโควิดที่นำมาสู่ภาวะศก.ถดถอยและถูกซ้ำเติมจากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อปัญหาเงินเฟ้อเพราะน้ำมันนับเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้า”นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้สิ่งที่น่ากังวลคือการห้ามส่งออกปุ๋ยของรัสเซีย จะกระทบต่อภาคเกษตรกรรมไปทั่วโลกรวมถึงไทยที่ส่วนหนึ่งมีการนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียแม้ว่าไทยอาจนำเข้าจากประเทศอื่นแทนได้แต่ในแง่ของราคาปุ๋ยจะสูงขึ้นมากโดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบนี้จะส่งผ่านไปยังฤดูเพาะปลูกของภาคเกษตรในปลายปีนี้และอาจนำไปสู่การขาดแคลนภาวะอาหารของโลกได้เช่นกันจึงต้องติดตามประเด็นนี้ใกล้ชิด

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้นส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยภาพรวมสูงตามเมื่อมีการโยนหินถามทางถึงกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 400-492บาทต่อวันให้สะท้อนกับภาวะเงินเฟ้อนั้นยอมรับว่าจำเป็นต้องปรับแต่ต้องผ่านไตรภาคีและยึดกลไกตลาดมาชี้วัดถึงอัตราและระยะเวลาที่เหมาะสมเพราะต้องคำนึงถึงธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SME)ว่าจะรับได้หรือไม่เพราะรายใหญ่เขาปรับตัวและมีทุนที่กระทบน้อยอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเป็นไปได้หรือไม่ที่การขั้นค่าแรงขั้นต่ำจะให้เฉพาะแรงงานไทยเนื่องจากกฏหมายขณะนี้ประโยชน์ให้ตกถึงแรงานต่างด้าวด้วยแต่พบว่าเม็ดเงินที่ขึ้นให้กลับถูกส่งต่อไปยังประเทศของแรงงานเหล่านี้แทนการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูป กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้คือ ปุ๋ยเคมี ที่ราคาจะสูงมากและอาจขาดแคลนซึ่งนับเป็นต้นทุนสำคัญของทุกประเทศที่ทำเกษตรกรรมซึ่งรวมถึงไทยเนื่องจากไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียสว่นหนึ่ง อย่างไรก็ตามล่าสุดก็มีการมองหาการนำเข้าจากแหล่งอื่นทดแทนเช่น ซาอุดิอาระเบีย

“ ปุ๋ยเคมี สามารถปรับเปลี่ยนสูตรการผสมได้ตามการใช้งาน จุดนี้มองว่ารัฐเองต้องเอื้ออำนวยความสะดวกในการปรับเปลี่ยนสูตรในช่วงเกิดปัญหาชั่วคราว และอาจให้สมาคมฯที่เกี่ยวข้องมีการรับรองกันเองได้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตหรือแก้ไขขาดแคลนก็จะทำให้ลดภาวะเงินเฟ้อได้ส่วนหนึ่ง”นายวิศิษฐ์กล่าว

สำหรับราคาอาหารภาพรวมที่ผ่านมารัฐบาลก็สามารถควบคุมได้ระดับหนึ่งเพราะเป็นสต็อกเก่า แต่เมื่อต้นทุนใหม่ที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ค่าขนส่ง แม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารต้องมีการปรับเพิ่ม แต่จะมากหรือน้อยก็อยู่ที่ศักยภาพการผลิตแต่ละราย และภาวะตลาดหรือกำลังซื้อของสินค้านั้นๆ แต่ภาครัฐจะมีการพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นเป็นรายบริษัทไปก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้ชี้แจงให้เห็นถึงตัวเลขต้นทุนที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น