การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน แม้ทำให้ความต้องการของผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ลดลงในระยะ 2-3 ปี ทว่าอีกประเด็นมาแรงควบคู่กัน คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้นตอสำคัญของภาวะโลกร้อน
ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้น จุดกระแสโลกให้ตระหนักถึงภัยพิบัติดังกล่าว จากผลวิจัยความต้องการของผู้ซื้อรถยนต์คนไทย ที่แสดงความต้องการ “ยานยนต์ไฟฟ้า” มากกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน
ต่อประเด็นดังกล่าว สุกิจ ตันสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คัสต้อม เอเชีย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยตลาดมากว่า 30 ปี เปิดเผยว่า ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เรื่องสำคัญ
ประเด็นแรก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก จากที่นานาประเทศไม่ได้เตรียมตัวรองรับมาก่อน จึงส่งผลกระทบรุนแรง และขยายไปทั่วโลก ทำให้การใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป เหมือนถูกบังคับเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดรุนแรง
อุตสาหกรรมรถยนต์ ถูกกระทบเช่นเดียวกับหลายๆ อุตสาหกรรม มีการหยุดการผลิตชิ้นส่วน โดยเฉพาะการเกิดปัญหาขาดแคลนชิป หรือชิ้นส่วนจำพวกเซมิคอนดักเตอร์เพื่อนำมาใช้ประกอบรถยนต์ ซึ่งกระทบต่อการผลิตรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้
ประเด็นที่สอง ภัยพิบัติของโลก เกิดถี่ บ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น ต่อจากนี้จะลดลงหรือไม่ ยังไม่มีความแน่นอน ที่สุดนำมาสู่การจัดประชุม COP26 ในประเด็นลดก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุสำคัญของภัยพิบัติที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ทั้งสองเหตุการณ์สำคัญทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และสร้างมลภาวะทางอากาศ รถยนต์อีวี ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ แต่เพราะการผลิตและการใช้งานยังมีข้อจำกัด จึงถูกนำกลับมาพัฒนาใช้อย่างจริงจัง เมื่อราว 4 ปีที่แล้ว
การสำรวจวิจัยของรางวัล TAQA ก็เช่นกัน เรามีการตรวจเช็คพฤติกรรมความต้องการของผู้ใช้รถ ในประเภทเครื่องยนต์ที่เขาอยากได้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาก็มีความต้องการ รถยนต์อีวี แต่ตัวเลขความต้องการยังน้อยมาก แต่ในช่วง 5 ปีมานี้ คนมีความต้องการมากขึ้น และเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแบบทวีคูณ
การสำรวจล่าสุด ปี 2564 (ดูภาพกราฟ ความต้องการเครื่องยนต์ในการซื้อรถครั้งต่อไป) ผู้บริโภคต้องการ รถยนต์เครื่องยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 22.8 มากกว่าเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเบนซินร้อยละ 14.5 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีความต้องการรถยนต์อีวีแซงหน้ารถใช้น้ำมันเบนซิน
ขณะเดียวกัน ในส่วนของรัฐบาล ก็มีมาตรการลดมลพิษ โดยมีมาตรการสนับสนุน เพื่อให้การผลิตเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จากความต้องการที่ชัดเจน การสนับสนุนของภาครัฐ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ก็เชื่อว่าความต้องการของผู้บริโภคจะมีอัตราเร่งมากขึ้นอีกนับจากนี้ไป
อย่างไรก็ตาม แม้สองตัวแปรสำคัญ เป็นตัวเร่งเปลี่ยน แต่ปริมาณการซื้อขายจริงจะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ ต้นทางการผลิตรถยนต์ต้องมีการพัฒนาแบตเตอรี่ที่ใช้เวลาชาร์จน้อยลง วิ่งได้นานขึ้น สถานีชาร์จไฟฟ้า มีมากเพียงพอต่อการให้ความสะดวก
ปัจจุบันสัญญาณเริ่มมีแล้ว ด้านการพัฒนาตัวแบตเตอรี่ ลดความถี่ในการชาร์จ หรือการขยายสถานีชาร์จ ที่มีทั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจ กฟผ., กฟภ. และ กฟน.ที่ดูแลด้านพลังงาน หรือแม้กระทั่งซัพพลายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น พีทีที ที่ลงมาทำสถานีชาร์จ และกำลังขยายบริการมากขึ้น ตลอดจนเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าป้อนสู่ตลาดด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าตัวซัพพอร์ตในการรองรับและขับเคลื่อน
“อีกปัจจัยสำคัญ ราคารถยนต์อีวีที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ผมเชื่อว่าการนำเข้ารถยนต์อีวี เช่น จากประเทศจีน เป็นแรงกดดันให้มีการผลิต และจำหน่ายรถยนต์อีวีในราคาลดลง รวมถึงให้แรงจูงใจของบอร์ดอีวีทางด้านภาษีทั้งแก่ผู้ผลิตและผู้ซื้อรถ ถ้าองค์ประกอบดังกล่าวนี้สามารถตอบโจทย์ได้ถูกต้อง ยอดขายไปลิ่วแน่นอน”
ทั้งนี้ สามารถคลิกอ่าน TAQA แบบ E-BOOKS ได้ทีลิ้งค์ https://drive.google.com/file/d/1Bhl26iG2JlbvqZS6xu7gIiZtswawUyCe/view?usp=sharing
หรือสแกน QR Code