นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 325% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 168 ล้านบาท และมี EBITDA อยู่ที่ 1,131 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มี EBITDA จำนวน 940 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวม 15,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,171 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 11,641 ล้านบาท
ทั้งนี้ กำไรสุทธิข้างต้นยังไม่ได้รวมผลการดำเนินงานของบริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด หรือ KMS ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 50% กับบริษัท โกเบ สตีล ลิมิเต็ด ดำเนินการผลิตและจำหน่ายเหล็กลวดเกรดทั่วไปและเหล็กลวดเกรดพิเศษ ซึ่งปัจจุบันสามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายเหล็กลวดเกรดพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสามารถกลับมาดำเนินการมีผลกำไรได้แล้ว โดยในปี 2564 KMS มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 369 ล้านบาท หากรวมกับกำไรสุทธิของบริษัทในปี 64 จะส่งผลให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 564 ล้านบาท
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า ในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้นถึง 36% เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยปรับเพิ่มสูงขึ้นตามราคาเหล็กในตลาดโลก ซึ่งรวมถึงราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่ม ทำให้ต้นทุนการขายและบริการอยู่ที่ 14,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 891 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 6% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 74 ล้านบาท หรือลดลง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของค่าขนส่งและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของบริษัท และต้นทุนทางการเงินลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัท
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทคาดว่าจะมีกำไรสุทธิต่อเนื่องจากปี 2564 เนื่องจากประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับบริษัทมีความพร้อมในการแข่งขัน
นอกจากนี้ แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีนที่มีการจำกัดการส่งออกและลดกำลังการผลิต และยกเลิกนโยบายคืนภาษีส่งออก (Tax rebate) ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงเพิ่มขึ้น
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในปี 2564 นายประวิทย์ กล่าวว่า จากการที่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีนมีการจำกัดการส่งออก และลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเหล็กและราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นอันเนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ฟื้นตัวดีขึ้น
จากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย การบริโภคเหล็กสำเร็จรูปของไทยในปี 2564 อยู่ที่ 18.74 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.9% จากปีก่อน โดยการบริโภคเหล็กทรงยาวอยู่ที่ 6.47 ล้านตัน แบ่งเป็นการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (Bar & HR section) อยู่ที่ 3.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.3% และผลิตภัณฑ์เหล็กลวด (Wire rod) อยู่ที่ 2.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.7% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การบริโภคเหล็กทรงแบนอยู่ที่ 12.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20.7% เมื่อเทียบกับปี 2563