xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มธรรมาภิบาลฯ หอบหลักฐานร้อง ป.ป.ช.ฟัน 3 กสทช. ปมเอื้อประโยชน์เอกชน ทำรัฐสูญรายได้กว่า 3 พัน ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มธรรมาภิบาลฯ หอบหลักฐานร้อง ป.ป.ช. สอบ 3 กสทช. ฐานเว้นปฏิบัติหน้าที่ ออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์ 2 บริษัท ทำรัฐเสียผลประโยชน์กว่า 3 พันล้าน

วันนี้ (17 ก.พ.) นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ได้ยื่นหนังสือถึง ประธานคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำของ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร พ.อ. ดร.นที ศุกลรัตน์ และ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรณีร่วมกันมีมติและออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่อาจเอื้อประโยชน์แก่ผู้ได้รับใบอนุญาต ว่า เป็นกรณีเจ้าพนักงาน ทำเสียหายแก่รัฐ และหรือเป็นการละเว้นปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ พร้อมเอกสารประกอบการตรวจสอบเบื้องต้น จำนวน 1 ชุด โดยนายไพโรจน์ นิยมเดชา นักสืบสวนคดีทุจริตชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ป.ป.ช.เป็นผู้รับเรื่อง

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้รับแจ้งข้อมูลจากเครือข่าย เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของ พล.อ.สุกิจ พ.อ. ดร.นที และ รศ.ประเสริฐ กรรมการ กสทช.กรณีร่วมกันมีมติและออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณเพื่อป้องกันการรบกวนกันระหว่างคลื่นความถี่ อาจไปเอื้อประโยชน์แก่เอกชนผู้รับใบอนุญาต และ หลีกเลี่ยงความเห็นของกระทรวงการคลังที่มีความเห็นว่าผู้รับใบอนุญาตจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ทำให้รัฐเกิดความเสียหายประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท

โดยกลุ่มธรรมาภิบาลฯได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบข้อเท็จจริง ตามเนื้อหาที่ยื่นไป ให้ ป.ป.ช. สอบสวนดังนี้ 1.  สำนักงานคณะกรรมการ กสทช. ได้มีประกาศเรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications-IMT) ย่าน 824-839/863-884 เมกะเฮิรตซ์ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในย่านดังกล่าว ได้แก่ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะต้องเป็นผู้ดำเนินติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (Filler) เพื่อป้องกันการรบกวนจากย่านความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ต่อย่านความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และผู้รับใบอนุญาตต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณดังกล่าว กรณีนี้ กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือที่ กค.0402.3/5614 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2563 ถึง เลขาธิการ กสทช. เรื่อง ขอหารือการนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ ย่านความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์และ 900 เมกะเฮิรตซ์ มีใจความสำคัญว่า “...ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่หรือผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ตามนัยประกาศดังกล่าว กรณีตามข้อหารือ สำนักงาน กสทช.จึงไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณย่านความถี่850 เมกะเฮิรตซ์และ 900 เมกะเฮิรตซ์ มาเป็นค่าใช้จ่ายในการคัดเลือก (โดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่) ก่อนนำส่งรายได้เข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้

2. ข้อมูลพบว่าการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2563เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 วาระที่ 5.4.1 พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร, พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ และ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ได้ร่วมกันมีมติเห็นชอบให้ผู้ได้รับอนุญาตทั้งสองรายนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวประมาณ 3,000 ล้านบาท ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบมาหักลดหย่อนจากรายได้ที่ต้องส่งให้ กสทช. เพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม บุคคลทั้งสามได้เห็นชอบร่างประกาศตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม จัดทำขึ้น โดยพล.อ.สุกิจ เป็นประธานได้เสนอขึ้นมา ซึ่งเนื้อหาเป็นการช่วยเหลือผู้รับอนุญาตทั้งสองราย และเพื่อให้ไม่ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นกรณีที่ต้องการช่วยเหลือผู้ได้รับใบอนุญาตทั้งสองราย

3. ข้อมูลพบว่า ในการประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 วาระที่ 5.2.12 พล.อ. สุกิจ พันเอก ดร.นที และ รศ.ประเสริฐ ได้ร่วมกันมีมีมติเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าวโดย พล.อ.สุกิจ ซึ่งทำหน้าที่ประธาน กสทช.ออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียง เนื่องจาก กรรมการ กสทช. 3 คน คือ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ไม่เข้าประชุม พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ คัดค้านว่าไม่สามารถกระทำได้ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรษภาษ์นันท์ เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณเป็นภาระและความรับผิดชอบของผู้รับใบอนุญาตโดยตรงตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4. ข้อมูลพบว่าการประชุมครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2563 วาระที่ 5.4.2 พล.อ.สุกิจ พ.อ.ดร.นที และ รศ.ประเสริฐ ได้ร่วมกันมีมติเห็นชอบให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด นำรายการและจำนวนค่าใช้จ่ายตามจริงสำหรับค่าวงจรกรองสัญญาณ ค่า installation และค่า optimization เพื่อป้องกันปัญหารบกวนกันระหว่างคลื่นความถี่ย่านความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ มาหักออกจากรายได้ที่ต้องจัดสรร เพื่อนำไปใช้ในการจัดการให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่งถึงและบริการเพื่อสังคมตามประกาศ กสทช.ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2563 สำหรับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กำหนดไม่เกินวงเงินกรอบค่าใช้จ่าย 1,844,145,000 บาท และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด กำหนดไม่เกินกรอบวงเงินค่าใช้จ่าย 1,287,613,127.85 บาท ซึ่ง ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ แจ้งในที่ประชุมว่า ไม่ขอร่วมพิจารณาในวาระนี้

ซึ่ง นายประวิทย์ ให้บันทึกความเห็นต่อท้ายว่าการดำเนินการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้รับใบอนุญาต และ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ได้ให้แนบบันทึกความเห็นไว้ท้ายรายงานการประชุม ซึ่งเรียงลำดับเหตุการณ์ไว้ว่า กระทรวงการคลัง ตอบข้อหารือ กสทช.ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ได้รับใบอนุญาต กสทช.ไม่อาจออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ ไม่ว่าในปัจจุบันหรือให้ผู้รับใบอนุญาตออกค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วนำมาหักลดหย่อน อันเป็นการใช้เงิน กสทช.ในอนาคต ซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตในเชิงนโยบาย และประกาศฉบับดังกล่าวก็เข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือผู้รับใบอนุญาตในการหลีกเลี่ยงข้อหารือของกระทรวงการคลัง เป็นกรณีที่มีการจัดการออกประกาศเพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมผ่านที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งอาจทำให้รัฐเสียหายในกรอบวงเงินกว่าสามพันล้านบาท

จากลำดับข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น กลุ่มธรรมาภิบาลฯจึงขอให้ตรวจสอบว่าการกระทำของ พล.อ.สุกิจ พันเอก ดร.นที และ รศ.ประเสริฐ ได้กระทำในฐานะเป็นกรรมการ กสทช. นั้นถือว่าเป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือไม่ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับประโยชน์หรือไม่ หากพบว่าบุคคลทั้งสามได้กระทำผิด ขอให้ท่านดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องจนถึงที่สุดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น