xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ จ่อเปิดท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 สู่ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งโลจิสติกอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เตรียมเปิดท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ผ่านระบบออนไลน์ 28 ก.พ. เดินหน้าพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ตอ. สู่ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียน สู่เศรษฐกิจนานาชาติ และการบินสู่ประตูการค้า

วันนี้ (27 ก.พ.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน โดยในวันพรุ่งนี้ (28 ก.พ.65) นายกรัฐมนตรี กำหนดเป็นประธานเปิดโครงการฯ ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ณ สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ผ่านระบบออนไลน์

นายธนกร กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียม โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทางน้ำสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ให้บริการรูปแบบท่าเทียบเรือสาธารณะ โครงการดังกล่าว มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่า 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่า 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกัน 2,229 เมตร เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และทันสมัย มีการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร สามารถรองรับเรือบรรทุกขนาด 264,000 DWT เปิดให้บริการ 12 ท่า (ท่าเรือสาธารณะ 2 ท่า และท่าเรือเฉพาะกิจ 10 ท่า) โดยมีเอกชน 19 ราย เช่าดำเนินการเป็นท่าเรือ คลังน้ำมัน คลังสินค้า และโรงไฟฟ้า มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มูลค่าลงทุน 47,900 ล้านบาท และช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ(Superstructure) ซึ่งจะเปิดทีโออาร์ภายหลัง ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท

“ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียมเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรอุตสาหกรรมพลังงาน (น้ำมันและก๊าซ) ก่อให้ประโยชน์ทั้งในมิติเศรษฐกิจ ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ และการบินสู่ประตูการค้า และมิติสังคม ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นในด้านการจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสร้างงานสร้างรายได้ต่อไป” นายธนกร กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น