xs
xsm
sm
md
lg

‘วัฏจักรของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน’ นวัตกรรมชาร์จไฟให้โลก! “แม้แบตหมดก็ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน นอกจากจะเป็นขั้นกว่าของการพัฒนาแหล่งกำเนิดพลังงานในอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว ยังเป็นมิตรต่อธรรมชาติอีกต่างหาก 

ยิ่งในสถานการณ์โลกของเราเผชิญกับภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น การเลือกแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมาเป็นแกนพลังงานของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ย่อมถือว่าเป็นทางเลือกที่มีประโยชน์ต่อโลกใบนี้

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน แนะนำ ‘วัฏจักรของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน’ โดยบอกว่า ภายหลังจากแบตเตอรี่ถูกผลิตและถูกนำไปใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคยานยนต์ไฟฟ้า จนมีประสิทธิภาพลดลง หรือหมดอายุการใช้งานแล้ว ในปัจจุบันมีรูปแบบการบริหารจัดการที่ทำให้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

1) การประกอบเป็นแพ็กใหม่ (Repack) เป็นกระบวนการที่ถูกนำมาใช้จัดการกับแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานจากยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว แต่ยังคงมีประสิทธิภาพความจุมากกว่า 80% โดยในภาพรวมจะมีคัดแยกเซลล์ที่ยังมีประสิทธิภาพดีออกมา เพื่อประกอบรวมกันเป็นแบตเตอรี่แพ็ก (Battery Pack) ใหม่ ก่อนนำกลับไปใช้งานกับยานยนต์ไฟฟ้าอีกครั้ง ซึ่งกระบวนดังกล่าว สามารถช่วยลดต้นทุนและพลังงานในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังเป็นการใช้งานให้เกิดความคุ้มค่าอย่างมาก

2) การนำไปใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นกระบวนการจัดการกับแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานจากยานยนต์ไฟฟ้าและมีประสิทธิภาพความจุลดลงถึงระดับ 60-80% จึงทำให้ไม่เหมาะสมต่อการนำกลับมาใช้งานในรูปแบบเดิมอีกต่อไป โดยแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพในรูปแบบดังกล่าวจะถูกนำมาคัดแยกเพื่อนำโมดูล (Module) หรือเซลล์แบตเตอรี่ (Cell) ที่เข้าเกณฑ์มาประกอบใหม่ และนำกลับมาใช้งานเป็นระบบกักเก็บพลังงานแบบตั้งอยู่กับที่ (Stationary Energy Storage System) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า กระบวนการนำไปใช้ซ้ำ (Reuse) หรือการใช้งานในลักษณะ Second Life เช่นนี้ สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่แบตเตอรี่ที่หมดอายุจากการใช้งานในยานยนต์ไฟฟ้าแล้วได้เป็นอย่างดี

3) การรีไซเคิล (Recycle) เป็นกระบวนการลำดับสุดท้ายในการจัดการกับแบตเตอรี่ที่หมดอายุโดยสมบูรณ์จากการใช้งานจากทุกรูปแบบ กล่าวคือ แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพความจุต่ำกว่า 60% จะไม่มีความเหมาะสมต่อการนำมาใช้งานในทุกรูปแบบอีกต่อไป ดังนั้น แบตเตอรี่ในกลุ่มดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการกำจัดของเสียด้วยกระบวนการเชิงกายภาพและกระบวนการเชิงเคมี เพื่อแปรสภาพแบตเตอรี่ให้กลายเป็นวัตถุดิบตั้งต้น
(Raw Materials) ที่มีความเหมาะสมต่อการนำไปผลิตเป็นแบตเตอรี่ใหม่อีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น