“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ม.ค. เพิ่มขึ้น 3.23% เหตุได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นหลัก ส่วนหมู ไก่ ไข่ น้ำมันพืช เป็นปัจจัยเสริม คาดเดือน ก.พ.ยังเพิ่มต่อเนื่อง จับตาปัจจัยกดดัน ทั้งราคาพลังงาน บาทอ่อนกระทบต้นทุนนำเข้า แต่ยังประเมินเงินเฟ้อทั้งปี 0.8-2.4%
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ม.ค. 2565 เท่ากับ 103.01 เทียบกับ ธ.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 1.13% เทียบกับเดือน ม.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 3.23% สูงขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2564 ที่ 2.17% โดยมีปัจจัยหลักมาจากสินค้ากลุ่มพลังงานที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรง ทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยเพิ่มขึ้น 19.22% และมีผลต่อเงินเฟ้อถึง 2.25% ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหาร แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มสูงขึ้น แต่มองว่าราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงจำเลยที่ทำให้ค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น โดยค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาจากราคาพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ สินค้าในกลุ่มอาหารสดที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ โดยเนื้อสุกรมีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.67% ไก่สด มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.03% และไข่ไก่ มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.05% ขณะที่สินค้าอื่นๆ ที่ปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามต้นทุนค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน และมีผลต่อเงินเฟ้อ เช่น น้ำมันพืช อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และค่าบริการส่วนบุคคล แต่ก็ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ปรับลดลง เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ผักสด ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าเล่าเรียน เป็นต้น
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่าดัชนีอยู่ที่ 100.99 เพิ่มขึ้น 0.26% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2564 และเพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2564
“เงินเฟ้อเดือน ม.ค.ที่สูงขึ้น 3.23% ยังไม่เป็นสัญญาณบ่งชี้ให้หน่วยงานรัฐใช้มาตรการสกัดเงินเฟ้อ หากจะใช้มาตรการต้องพิจารณาเงินเฟ้อที่ขยายตัวต่อเนื่องในหลายๆ เดือนติดต่อกัน และเป็นการขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว เช่น จาก 3% เป็น 5% 7% แต่ย้ำว่าเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2565 ยังเป็นเงินเฟ้อในระดับอ่อนๆ มาจากปัจจัยหลัก คือ ราคาพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้” นายรณรงค์กล่าว
นายรณรงค์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. 2565 หากราคาพลังงานยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ทั้งปียังคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ที่ 0.7-2.4% ค่ากลางอยู่ที่ 1.5% โดยยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ราคาน้ำมัน ที่อาจสูงขึ้นได้อีก
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าเงินบาท ที่หากอ่อนค่ามากจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้น จึงต้องดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับเงินเฟ้อ, มาตรการช่วยเหลือประชาชน ที่แม้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่หากเงินเข้าสู่ระบบไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ เหมือนอย่างที่หลายประเทศใช้งบประมาณสูงในการช่วยเหลือประชาชน แต่ก็ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ รวมถึงการเก็บภาษี เช่น ภาษีที่ดิน ที่อาจกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ