xs
xsm
sm
md
lg

TDRI มอง ศก.โลกฟื้น H2/65 ส่วน GDP ไทยคาดโต 3.5% หนี้ครัวเรือนยังถ่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงาน "จับชีพจรเศรษฐกิจโลกปี 65 ฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19" โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อปี 63 และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ปี 64 และต่อเนื่องมาในปี 65 ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะโต 4.4% นำโดยประเทศหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย และสหภาพยุโรป แม้ว่าจะไม่มากเท่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปกระทบกับราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ มองว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นความเสี่ยงที่มีอยู่ จากการแพร่ระบาดที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกได้

แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่างๆ ลดลง เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกได้มีการกระจายการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องและมากกว่า 70% ของประชากรไปแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากสายพันธุ์โควิดโอมิครอนที่เริ่มอ่อนแรงลง แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่ไม่มีผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมากเท่าสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจได้ โดยเชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศหลักที่เป็นคู่ค้าของประเทศไทย

ทั้งนี้ มองว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายจะหนุนให้ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานของโลกคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 64 ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวลดลง แต่อาจจะยังไม่ได้กลับไปสู่ภาวะปกติเนื่องจากยังมีปัจจัยเรื่องของสงครามทางการค้าที่มีอย่างต่อเนื่องระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย และยูเครน ที่อาจจะมีความรุนแรงถึงขั้นเกิดสงครามได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะมากระทบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก

ด้านอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเริ่มกลับมาอยู่ในทิศทางขาขึ้น หลังจากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นำโดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามเพื่อที่จะไม่ให้เงินทุนต่างชาติไหลออก แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศก่อน ซึ่งประเทศไทยเองภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ได้ดีมากนัก เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และหนี้ของ SMEs ยังอยู่ในระดับสูงเช่นกัน เพราะฉะนั้นประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเหมือนกับประเทศอื่นๆ จึงมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4/65 จำนวน 1 ครั้ง

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 65 มองว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพุนธุ์โอมิครอนจะเบาบางกว่าสายพันธุ์เดลตา ซึ่งประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการเรียนรู้ที่จะอยู่กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย จึงมองว่าจะไม่มีการใช้มาตรการปิดเมือง (Lock Down) แล้ว ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง จะสนับสนุนให้ GDP ของประเทศไทยเติบโตได้ 3.5% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติได้ในปี 66

โดยปัจจัยหลักที่จะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 65 นี้ มาจากการบริโภคภายในประเทศที่มีสัดส่วนของเศรษฐกิจไทยมากถึง 50% เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ หลังจากมีการคลายมาตรการ Lock Down แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่กลับไปสู่ภาวะปกติ ด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และรายได้ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคครัวเรือนให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ด้านภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย คาดว่าจะยังต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี กว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยประมาณการว่าปี 65 จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา 5-6 ล้านคน จากปีก่อนที่ 4.3 แสนคน

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศเริ่มกลับมาแล้ว เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเพื่อเตรียมการก่อนกำลังซื้อที่เริ่มกลับมา และได้มีการย้ายการลงทุนจากประเทศจีน มายังประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ

ส่วนการส่งออกของประเทศไทยมีทิศทางการเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยคาดว่าจะโต 5-10% ตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป ยังมีการขยายตัวอยู่ ในขณะเดียวกันคาดว่าค่าขนส่งจะสามารถอ่อนตัวลงมาเล็กน้อยจากปี 64 แต่ยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบด้านราคาพลังงาน แต่อย่างไรก็ตาม จะมีปัจจัยหนุนจากทิศทางค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปี 64


กำลังโหลดความคิดเห็น