“กกร.” ขยับกรอบเงินเฟ้อปี 2565 ใหม่จากเดิม 1.2-2% เป็น 1.5-2.5% ประเมินครึ่งปีแรกอาจแตะ 3% ได้หลังราคาสินค้า พลังงานขยับขึ้นต่อเนื่อง แนะรัฐร่วมมือเอกชนตรึงราคาสินค้า ราคาพลังงานทั้งดีเซล ก๊าซหุงต้ม ส่วน ศก.และส่งออกยังคงกรอบเดิมหลังโอมิครอนไม่รุนแรงมาก
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยหลังการประชุม กกร.ประจำเดือน ก.พ. 65 ว่า กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-4.5% และส่งออกขยายตัวในกรอบ 3.0-5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับตัวขึ้นในกรอบ 1.5% ถึง 2.5% จากเดิมการประชุมเดือน ม.ค.ได้เคยคาดการณ์ไว้ในกรอบ 1.2-2.0% เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคโดยเฉพาะในหมวดอาหารสด และพลังงาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกอาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 3% ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และอาจส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่จะชะลอการบริโภคลง ประกอบกับประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะสะท้อนผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ กกร.จึงได้เสนอแนวทางดูแลเศรษฐกิจ ได้แก่
1) ขอความร่วมมือภาคเอกชนในการตรึงราคาสินค้า โดยขอให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบที่มีอยู่เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาออกไปก่อน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน
2) ขอให้ภาครัฐตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้แก่ผู้ประกอบการ
3) ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการ Test & Go ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงวันที่เดินทางถึงไทย และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ ATK ผ่านระบบหลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง
“การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง ดังนั้น ภาคการส่งออกของไทยยังมีโอกาสที่จะยังเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้หากสามารถป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดมีผลกระทบรุนแรงต่อ supply chain ของภาคการผลิตได้ อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีโอกาสส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในหลายมิติ หากสหรัฐฯ และยุโรปมีมาตรการคว่ำบาตรและรัสเซียตอบโต้ด้วยการลดการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซฯ จะยิ่งกดดันราคน้ำมันโลกให้สูงขึ้นอีก ดังนั้นจึงต้องติดตามใกล้ชิด” นายสุพันธุ์กล่าว
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2565 มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้เนื่องจากสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โอมิครอน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องมีการ Lockdown อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้หลายช่องทาง รวมถึงเงินเฟ้อ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเตรียมการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นมาก จนกระทบผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยรวม