xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนลั่นขึ้นค่าแรงแก้ของแพงไม่ใช่คำตอบ แนะเปิดประเทศรับท่องเที่ยวฟื้น ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.และสภาองค์การนายจ้างฯ ประสานเสียงการขึ้นค่าแรงแก้ค่าครองชีพสูงไม่ใช่คำตอบในเวลานี้ “ส.อ.ท.” แนะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้น ศก.รับมือควบคู่กับมาตรการอัดเงินตรงเข้าระบบ ศก.ดีสุด ขณะที่สภาองค์การนายจ้างชี้อย่าคุมราคาสินค้ามากไป และให้กลับไปดูการสต๊อกสินค้าเพื่อเก็งกำไร

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เริ่มบ่งชี้ว่าไม่ได้รุนแรงถึงขั้นอ้นตรายต่อชีวิตและในที่สุดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อแก้ไขภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวจะส่งผลต่อการรักษาระดับการจ้างงาน และเพิ่มรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยเพราะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมีจำนวนแรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

“อังกฤษที่ติดเชื้อโอมิครอนเร็วมากเขาก็ยังเปิดประเทศแล้ว ใครจะว่ายังไงผมยังยืนยัรว่าเราอย่ากลัวเกินเหตุ เพราะหากเรายึดแนวทางแก้ไขโดยมุ่งเน้นดูแลระบบสาธารณสุขที่มากกว่าระบบเศรษฐกิจเกินไป ฝเราจะลำบาก การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแค่กำหนดฉีดวัคซีนครบโดสเมื่อเข้า-ออก ตรวจเจอก็กักตัวเท่านั้นน่าจะพอ การดูแลตัวเองของคนในชาติก็ยังต้องเข้มงวดเช่นเดิม เนื่องจากเมื่อโลกฟื้น ราคาน้ำมัน สินค้าต้องการเพิ่มขึ้นแต่ของขาดจึงเกิดเงินเฟ้อที่สูงตามมา ไทยเองก็เช่นกันเราไม่ได้ผลิตน้ำมัน ขณะที่น้ำมันเป็นต้นกำเนิดวัตถุดิบ และการขนส่งจึงทำให้สินค้าต่างๆ ราคาแพงขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาค่าครองชีพของไทยที่สูงหากระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตระดับ 5-6% ผลกระทบภาพรวมจะไม่รุนแรงอะไร ดังนั้นหากรัฐบาลเปิดประเทศ ควบคู่กับการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นกำลังซื้อให้ถึงมือประชาชนก็จะสามารถเดินหน้าได้ ส่วนกรณีที่ภาคแรงงานบางส่วนต้องการให้พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นต้องเข้าใจว่าแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมต่างกัน เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ไอที ที่กำลังมาแรงส่งออกได้ดี อาหารบางประเภท กลุ่มนี้มีการพิจารณาขึ้นค่าแรงอยู่แล้ว

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบชัดเจน เช่น กิจการโรงแรม ท่องเที่ยว สิ่งทอ ฯลฯ การรักษาระดับการจ้างงานให้เหมือนเดิมยังเป็นอะไรที่ยาก ดังนั้นการขึ้นค่าแรงจึงไม่ใช่คำตอบภาพรวม เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ส่วนใหญ่กำลังลำบากจึงต้องเร่งดูแลส่วนนี้ด้วย


นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีอัตราคนว่างงานราว 1.7 ล้านคน หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจะกระทบต่ออัตราการจ้างงานที่ขณะนี้ก็อ่อนแออยู่แล้วให้เปราะบางมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่แนวทางในเวลาที่เศรษฐกิจกำลังเปราะบางเพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมนายจ้างที่ก็กำลังประสบภาวะต้นทุนการผลิตโดยรวมที่สูงขึ้นจากทั้งราคาพลังงาน วัถตุดิบ ซึ่งสิ่งเหล่านิ้ยิ่งกระทบต่อเอสเอ็มอีให้ประสบภาวะการขาดสภาพคล่องมากขึ้น

“ผมคิดว่าค่าครองชีพที่สูงจากระดับสินค้าที่แพงนั้น หากรัฐบาลยังคงไปควบคุมราคามากเกินไปไม่ได้สะท้อนกลไกตลาดอย่างเหมาะสม ก็อาจกดดันให้ของขาดตลาดได้เพราะเขาไม่สามารถผลิตออกมาด้วยการขาดทุน ขณะเดียวกันสินค้าที่มีการเก็บสต๊อกเพื่อเก็งกำไร ตรงนี้รัฐบาลจะต้องไปเร่งพิจารณาดำเนินการแก้ไขด้วย” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น