ลุ้นไม่เลื่อน! ชดเชย 1.9 หมื่นล้าน จ่าย 2 พันท้องถิ่น รายได้ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง “หด” จากภัยโควิด-19 ตามคิว “ทน.-ทม." พ่วง กทม.-พัทยา หลังปลายปีที่แล้ว ครม.ตีกลับ ให้ไปแก้วงเงิน ฝ่ายเลขาฯชงเลือกขอ “งบกลาง ปี 65” เพียง 1.9 พันล้าน ตามมติเดิมสัดส่วนเช่นเดียวกับ ทต.- อบต. จ่ายร้อยละ 90 ส่วนที่เหลือ สงป.พิจารณาจ่ายตามภาวะเศรษฐกิจ
วันนี้ (31 ม.ค. 65) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ต้นเดือนหน้า (ก.พ. 65) คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เตรียมพิจารณาข้อเสนอขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร (ทน.) และเทศบาลเมือง (ทม.) ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ภายหลังเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้ส่งเรื่องกลับมายัง ก.ก.ถ. ให้ไปพิจารณาใหม่ ตามคำสั่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ นร 0507/32214 (11 ต.ค. 64) ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เรื่องการขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมืองนั้น
“ตามที่ได้เสนอความเห็นไปเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้ส่งเรื่องกลับมายัง ก.ก.ถ. ให้ไปพิจารณาใหม่ ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ให้มีความ “เหมาะสม” ในส่วนของวงเงินที่ อปท.ควรจะได้รับ รวมทั้ง “แหล่งที่มา” ของงบประมาณ ก่อนจะเสนอ ครม.อีกครั้ง”
ล่าสุด ในที่ประชุม ก.ก.ถ.สัปดาห์หน้า สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตีร (สปน.) ฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้แจ้งผลการจัดประชุมหารือเรื่องดังกล่าวแล้ว เมื่อ 27 ธ.ค.2564 เห็นควร พิจารณาแนวทางการชดเชยรายได้ให้แก่ กทม. เมืองพัทยา ทน. และ ทม. ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้เป็นไปตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี พร้อมกับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ในกรณีดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อยุติ และเสนอ ก.ก.ถ. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ดังนี้
แนวทางที่ 1 เสนอของบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ กทม. เมืองพัทยา ทน. และ ทม. ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี พ.ศ. 2563 ตามสัดส่วนเช่นเดียวกับ ทต. และ อบต. ได้รับการจัดสรรในอัตราร้อยละ 90 ของเงินส่วนต่างระหว่างภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ประจำปี พ.ศ. 2563 และภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บได้จริง ประจำปี พ.ศ. 2563 คิดเป็นเงิน 19,816.56 ล้านบาท ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ
แนวทางที่ 2 เห็นควรพิจารณาชดเชยรายได้ให้แก่ กทม. เมืองพัทยา ทน. และ ทม. เมื่อเปรียบเทียบเงินสะสมกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 15,634.61 ล้านบาท ดังนี้ ชดเชย อปท. ที่มีเงินสะสมติดลบให้จัดสรรเงินชดเชยรายได้ในอัตราร้อยละ 90, ชดเชย อปท. ที่มีเงินสะสมมากกว่าส่วนต่างให้จัดสรรเงินชดเชยรายได้ในอัตราร้อยละ 70 และ ชดเชย อปท. ที่มีเงินสะสมน้อยกว่าส่วนต่างให้จัดสรรเงินชดเชยรายได้ ในอัตราร้อยละ 80
“ฝ่ายเลขานุการ เสนอตามมติ อนุฯเห็นควรดำเนินการตามแนวทางที่ 1 ที่ให้ชดเชยเงินรายได้ฯ ในวงเงิน 19,816.56 ล้านบาท โดยให้ สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแหล่งเงินที่จะนำมาชดเชยได้ตามความเหมาะสม และขอให้พิจารณาชดเชยฯ จากงบประมาณ ปี พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินไม่เกิน 1,981.65 ล้านบาท”
ส่วนที่เหลือให้ สงป. พิจารณาชดเชยตามสมควร โดยขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาล ทั้งนี้ ให้นำสถานะเงินนอกงบประมาณของ อปท. มาพิจารณาประกอบด้วย
จากข้อมูลของ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น( สถ.) รายงานรายได้ที่ลดลง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 พบว่า อปท.ขนาดใหญ่ 226 แห่ง มีรายได้จากการจัดเก็บจริง 1,990.14 ล้านบาท ลดลงจากรายได้เดิมจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2562 ที่เคยจัดเก็บได้ 24,020.25 ล้านบาท โดยมีรายได้ลดลง 22,030.11 ล้านบาท
“194 เทศบาลเมือง รายได้ลดลง 3,943.47 ล้านบาท จำนวน 30 เทศบาลนคร รายได้ลดลง 3,697.87 ล้านบาท กทม.พบว่า รายได้ลดลง 13,969.61 ล้านบาท ขณะที่เมืองพัทยา รายได้ลดลง 419.16 ล้านบาท”