ส่อลากยาว! ภารกิจถ่ายโอน 3.3 พัน รพ.สต. ไป 49 อบจ. เปิดหนังสือสำนักนายกฯ 4 ฉบับ รับลูก ส.ว.คนดัง “บิ๊กตู่” สั่ง “วิษณุ” ประธานบอร์ด ก.ก.ถ.พิจารณาข้อเสนอ “ปธ.กมธ.สาธารณสุข” วุฒิสภา ให้ยับยั้ง เฉพาะประเด็น ค้านจัดงบอุดหนุน ให้ อบจ. ปีละกว่า 2-3 พันล้าน ลุ้น! อนุฯ ก.ก.ถ.ชุดถ่ายโอนฯ ตั้งทีมพิจารณา 10 ปม ที่ ส.ว.คัดค้าน
วันนี้ (28 ม.ค. 65) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ต้นเดือนหน้า (ก.พ. 65) คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
เตรียมพิจารณาความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนบุคลากร รพ.สต.จำนวน 22,264 คน ใน 3,384 แห่ง ให้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 จังหวัด ซึ่งบอร์ด ก.ก.ถ.ชุดนี้เห็นชอบไปแล้ว ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา
ข้อพิจารณาในต้นเดือนหน้า เป็นข้อเสนอของ สปน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ที่ขอให้ ก.ก.ถ.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข ให้แก่ อปท. ใน ก.ก.ถ. ที่มี นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ เป็นประธาน รับไปพิจารณาข้อปรึกษาหารือของ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) วุฒิสภา
หลังจากเมื่อปลายปีที่แล้วสมาชิกวุฒิสภาและคณะ ได้ยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาทบทวนถ่ายโอนฯ
ข้อเสนอ “ทวบทวนการถ่ายโอน” ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งมายัง สปน.ในฐานะเลขานุการ ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชามอบหมายให้ สำนักงาน ก.ก.ถ. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ไปพิจารณาตามหนังสือขอทบทวนจากสมาชิกวุฒิสภา
ฉบับแรก หนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0404/ 16174 ลงวันที่ 22 ธ.ค.2564กรณีนายเจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ขอให้ทบทวนเรื่องการ ถ่ายโอน รพ.สต. ไป อปท. เนื่องจากการถ่ายโอนดังกล่าวเกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
“แม้การถ่ายโอนถือเป็นเรื่องที่ดีในการกระจายอำนาจเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ โดยเห็นได้จาก ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อมาตรการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุขการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อปท. จึงอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”
และที่สำคัญ คือ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2544 มีการกำหนดให้มี “ระบบการส่งต่อผู้ป่วย” การส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.สต. ไปยังโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลอื่นๆ หากมีการถ่ายโอน ไปยัง อปท. ซึ่งยังไม่มีความพร้อมในการส่งต่อผู้ป่วยจะส่งผลให้ประชาชนได้รับความยากลำบาก
ฉบับที่สอง หนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0404/743 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2565 กรณีนายเจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ขอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ แต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งให้มีหน้าที่และอำนาจ พิจารณาศึกษาประเด็นการถ่ายโอน รพ.สต. ที่เป็นผลมาจากพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เพื่อให้เกิดความรอบคอบ
“ยับยั้งการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสังกัด อบจ. โดยไม่ให้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม และบุคลากรด้านสาธารณสุฃที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน”
ฉบับที่สามและสี่ หนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0404/769 ลงวันที่ 18 ม.ค.2565 และหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0403 (กร 2)/895 ลงวันที่ 20 ม.ค.2565 กรณีนายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ขอให้ยับยั้งการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. โดยพิจารณาเห็นว่า การรวบรัดการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว อาจสร้างปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในอนาคตด้วยเหตุผล 10 ประการตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
นอกจากนี้ ล่าสุด บอร์ด ก.ก.ถ. ได้เห็นชอบให้จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป และงบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากรเพื่อการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต.
เพื่อให้ อบจ. ที่รับการถ่ายโอนภารกิจฯจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สามารถจัดบริการด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ
โดยแจ้งให้สำนักงบประมาณ พิจารณาดำเนินการจัดสรรงบประมาณ เงินอุดหนุนให้แก่ อบจ. ดังนี้
“ให้จัดสรรแก่ รพ.สต. และ สอน. ที่ถ่ายโอนไปยังอบจ. ไม่น้อยกว่า ที่เคยจัดสรรให้ รพ.สต./ สอน. ที่ถ่ายโอนไปยัง อบต.และเทศบาล โดย จัดสรรให้ รพ.สต./ สอน. ขนาดเล็ก 1 ล้านบาท/ปี จัดสรรให้ รพ.สต./ สอน. ขนาดกลาง 1.5 ล้านบาท/ปี และจัดสรรให้ รพ.สต./ สอน. ขนาดใหญ่ 2 ล้านบาท/ปี”
ทั้งนี้ คาดว่า จะเป็นการเสนอตั้งงบจัดสรร เงินอุดหนุนให้แก่ อบจ. 49 แห่ง ตามภารกิจนี้ รวมปีละประมาณ 2-3 พันล้านบาท.