ท่ามกลางความสนใจของคนในวงการแพทย์และสาธารณสุข คนในวงการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และคนที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทบทุกระดับ พุ่งมาที่ประเด็นการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่กฎหมายได้เดินหน้าไปแล้วด้วยกรอบที่ว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 การถ่ายโอนจะต้องเกิดขึ้น
กระนั้น ยังมีเรื่องราวที่ต้องสังเคราะห์ ต้องวิจัย และต้องหาคำตอบอยู่หลากหลายประเด็น โดยเฉพาะกับเรื่องของบุคลากรสาธารณสุขที่รวมอยู่ในส่วนของการถ่ายโอนรพ.สต.ไปด้วย ซึ่งจากเดิมอยู่ภายใต้ร่มของกระทรวงสาธารณสุข ต้องย้ายไปสังกัดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อบริการสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาว่า หากมีการถ่ายโอนไปแล้ว ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องคน เงิน ทรัพยากรต่างๆ เพื่อจัดบริการให้กับประชาชน การบริหารให้เกิดความราบรื่นหลังการถ่ายโอน รวมไปถึงเมื่อถ่ายโอนไปแล้วเกิดข้อจำกัดใดๆ จะมีช่องทางใดบ้างที่จะให้ความช่วยเหลือ
การหาคำตอบจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทางวิชาการที่จะตอบโจทย์เรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปพร้อมกับการถ่ายโอนรพ.สต.ให้อบจ.ที่ก็ต้องออกเดินหน้าไปแล้วเช่นกันภายใต้กรอบระยะเวลาของกฎหมายที่กำหนดไว้ ด้วยว่าล่าสุดที่ขณะนี้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 49 แห่ง ที่พร้อมจะรับการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมทั้งหมด 3,036 แห่ง ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
และเพื่อทำให้การถ่ายโอนครั้งนี้มีความราบรื่นตามที่กฎหมายกำหนด วงประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยระบบบริการสุขภาพครั้งที่ 2/2565 ที่มีนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประธานของคณะกรรมการชุดนี้ พร้อมด้วย นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการในชุดดังกล่าวด้วยจึงเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันวางแผน พิจารณาถึงกรอบการวิจัยถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สำหรับรองรับข้อจำกัดการถ่ายโอนรพ.สต.ที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับทิศทางของการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยระบบบริการสุขภาพ ได้สะท้อนความเห็นในประเด็นการดำเนินการบริหารจัดการบุคลากรและการบริหารจัดการระบบบริการปฐมภูมิ รวมถึงบทบาทขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หากเกิดข้อจำกัดใดๆ ทั้งนี้ตามที่กฏหมายได้กำหนดไว้
โดย นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยระบบสาธาณสุข (สวรส.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สวรส. จะสนับสนุนเรื่องนี้ในบทบาทงานวิจัยวิชาการที่จะทำให้การถ่ายโอนมีความราบรื่นเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และอุดช่องโหว่ แก้ปัญหาของการถ่ายโอนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานและเกิดความเหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามบทบาททางวิชาการ
นายแพทย์นพพร กล่าวว่า “ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือเมื่อมีการถ่ายโอนรพ.สต.ไปยังอบจ.แล้ว หน้าที่การดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิก็จะอยู่กับหน่วยงานท้องถิ่น คำถามที่ตามมาคือ สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) จะมีบทบาทอย่างไรต่อไปหลังการถ่ายโอน จะมีภารกิจหน้าที่ใดบ้างที่จะดำเนินการเพื่อหนุนเสริมการทำงานร่วมกันได้”
ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับ ทิศทางแผนงานวิจัยระบบบริการสุขภาพ กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบายใดๆ ก็ตาม หากมีหลักฐานเชิงประจักษ์ สนับสนุนก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่าย ไม่ผิดทิศผิดทาง ซึ่งจะเกิดผลดีกับประชาชนในที่สุด อีกทั้ง ยังมีองค์ความรู้อีกหลายประการในการกำหนดประเด็นที่จำเป็นสำหรับการถ่ายโอนรพ.สต. เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ดังนั้น จึงมีความจำเป็น และจะช่วยป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจมีได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเวลาจำกัด กรอบการวิจัยจึงควรมุ่งเป้าที่การเตรียมการในระบบต่างๆ มากกว่าการประเมินว่าเมื่อถ่ายโอนแล้วมีผลดีผลเสียอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สวรส. ได้สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพมาโดยตลอด ซึ่งการถ่ายโอนหน่วยบริการปฐมภูมิจากสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจ สำหรับประเด็นการถ่ายโอนรพ.สต. ให้ อบจ. มีประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วน เช่น ประเด็นรูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประเด็นการจัดสรรงบประมาณรายหัวให้แก่อบจ. ประเด็นการพัฒนาศักยภาพและความก้าวหน้าทางอาชีพของบุคลากร รวมถึงบทบาทของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ในการทำงานร่วมกับอบจ.เพื่อบริหารเครือข่ายรพ.สต.ที่รับการถ่ายโอนมายังอบจ.แล้ว
“ประเด็นสำคัญคือความเชื่อมโยงระหว่างการถ่ายโอนรพ.สต. และพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องการคำตอบ เพราะเมื่อมีการถ่ายโอนแล้ว รูปแบบการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อการให้บริการอยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่น และจะทำอย่างไรให้การถ่ายโอนมีความราบรื่นในทุกด้าน โดยคำตอบจะต้องผ่านการวิจัย ซึ่งสวรส.ในฐานะหน่วยงานทางวิชาการก็จะสนับสนุนให้มีองค์ความรู้ที่จะทำให้การถ่ายโอนรพ.สต.เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างเต็มที่ ” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวทิ้งท้าย