เชียงใหม่ - สวรส.จับมือศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ส่งมอบนวัตกรรมต้นแบบ “เต็นท์ความดันลบและเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ” ให้ ม.แม่โจ้-รพ.สันทราย แห่งแรกภาคเหนือ สนับสนุนการทำงานรับมือสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในพื้นที่เชียงใหม่ เผยคุณภาพและประสิทธิภาพทัดเทียมต่างประเทศ แต่ต้นทุนต่ำกว่าหลายเท่าตัว
วันนี้ (20 ธ.ค. 64) ที่ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีส่งมอบไฮพีต (HI PETE) เต็นท์ความดันลบ และพีต (PETE) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วยคณะวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.วิจัยพัฒนาขึ้นมา และส่งมอบให้สถานพักฟื้นและดูแลสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : MJU Well-Being Hospitech และโรงพยาบาลสันทราย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นแห่งแรกของภาคเหนือ
ทั้งนี้ ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้ร่วมกันส่งมอบมอบไฮพีต (HI PETE) เต็นท์ความดันลบ จำนวน 5 ชุด และพีต (PETE) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ จำนวน 1 ชุด ให้แก่สถานพักฟื้นและดูแลสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : MJU Well-Being Hospitech และโรงพยาบาลสันทราย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บัญญัติ มนเทียรอาสน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนายแพทย์ ยุทธศาสตร์ จันทร์ทิพย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้แทนรับมอบ พร้อมชมการสาธิตการใช้งาน
หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า ไฮพีต (HI PETE) เต็นท์ความดันลบ จำนวน 5 ชุด และพีต (PETE) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาจาก สวรส.เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น โดยเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ด้วยการติดตั้งในรถพยาบาล และเต็นท์ความดันลบที่ใช้ในการแยกผู้ป่วยสีเขียว ที่มีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่แยกกักตัวเพื่อรักษา ซึ่งเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนบาท และเต็นท์ความดันลบมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาท ต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว และอนาคตน่าจะสามารถลดต้นทุนลงไปได้อีก โดยที่คุณภาพและประสิทธิภาพการใช้งานไม่แตกต่างกันเลย
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ มนเทียรอาสน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า "เต็นท์ความดันลบ HI PETE จำนวน 5 ชุด ซึ่งได้รับมอบจากเอ็มเทค สวทช. ที่ร่วมกับ สวรส. และ สกสว. สนับสนุนในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับศูนย์พักคอยในการช่วยแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อ เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับครอบครัวตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ดูแลและรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานในศูนย์พักคอย รวมทั้งช่วยลดสถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมของจังหวัดไปพร้อมกันด้วย โดยความคาดหวังว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจะได้ใช้ประโยชน์สำหรับการเรียนการสอนของคณาจารย์และนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ต่อไปด้วย"
ด้านนายแพทย์ ยุทธศาสตร์ จันทร์ทิพย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เปลความดันลบมีความจำเป็นอย่างมากต่อทุกโรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่มีเปลความดันลบเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด วันนี้โรงพยาบาลได้รับมอบพีต (PETE) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ จะช่วยสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่บุคลากรผู้อยู่หน้างานได้อย่างมาก โดยเปลความดันลบนี้จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของทีมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และสะดวกในการนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีทีสแกนปอด หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ เพราะไม่ต้องนำผู้ป่วยออกจากเปล ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โรงพยาบาลสามารถใช้เปลดังกล่าวกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ต่อไป