ข้อกล่าวหา "ฮั้ว" เป็นเหตุ! บอร์ดวินิจฉัยจัดซื้อ ก.คลัง ชี้ช่อง "เทศบาลนครอุบลฯชุดใหม่" มีสิทธิ "บอกเลิกสัญญา" โปรเจกส์รถกู้ภัย/ดับเพลิง 45 ล้าน ของผู้บริหารกลุ่มเดิม ที่อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม แถมลงนามในสัญญาแล้ว หลัง ก.คลัง รับเรื่องร้องเรียน ส่วนอีก 4 รายการ วงเงินรวม 88 ล้าน เทศบาลฯ ตรวจรับงานแล้ว ไม่มีผลให้ยกเลิก
วันนี้ (29 ม.ค.65) มีรายงานจากกระทรวงมหาดเไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.3/2619 ลงวันที่ 20 มกราคม 2565 เรื่อง ข้อหารือการจัดซื้อรถยนต์ไม่เป็นไปตามราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ถึง นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี
หนังสือดังกล่าว แจ้งผลการพิจารณาข้อหารือการจัดซื้อรถยนต์ ของเทศบาลนครอุบลราชธานี ที่จัดซื้อโดยคณะผู้บริหารและสภาเทศบาลฯ ชุดเดิม ซึ่งได้อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสม
หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่า คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะครุภัณฑ์และราคากลางรถยนต์ ที่เทศบาลนครฯจแต่งตั้ง "กำหนดราคากลางสูงกว่าราคาที่จัดซื้อจริง เอื้อประโยชน์กับผู้ขายบางรายและกำหนดอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อกีดกันผู้ขายบางราย อันเป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม"
อีกทั้งจากกรณีศึกษาการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบชี้มูลครุภัณฑ์รถยนต์ที่กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะครุภัณฑ์และราคากลางรถยนต์ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกลางของสำนักงบประมาณ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อันส่อเค้าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง
รวมทั้งผู้รับจ้างเสนอราคาที่ต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าอาจไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการอันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ลงนามในสัญญาแล้ว
ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมทั้งการจ่ายขาดเงินสะสมดังกล่าวไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 2086
ลงวันที่ 12 เมษายน 2559
"ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เทศบาลนครอุบลราชธานีได้ดำเนินการจัดซื้อรถยนต์กู้ภัยและดับเพลิง งบประมาณจำนวน 45,424,603 บาท โดยได้ดำเนินการลงนามในสัญญาแล้ว ซึ่งย่อมต้องผูกพันตามข้อกำหนดและเงื่อนไขแห่งสัญญา รวมทั้งเอกสารแนบท้ายสัญญาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา"
อย่างไรก็ดี ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 103 วรรคสอง
บัญญัติว่า “การตกลงกับคู่สัญญาที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาได้เฉพาะในกรณีที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐโดยตรงหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของหน่วยงานของรัฐในการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้นต่อไป”
"หากเทศบาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่มีผู้ร้องเรียนคณะกรรมการฯ กำหนดราคากลางสูงกว่าราคาที่จัดซื้อจริงเอื้อประโยชน์กับผู้ขายบางราย และกำหนดอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อกีดกันผู้ขายบางราย อันเป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และมีเหตุสมควรที่จะทำการตกลงที่จะบอกเลิกสัญญากับผู้ขาย เทศบาลฯอาจพิจารณาดำเนินการตามนัยพระราชบัญญัติฯ มาตรา 103 วรรคสอง ต่อไปได้"
อย่างไรก็ตามอีก 4 โครงการ ที่มีผู้ร้องเรียน พบว่า ซึ่งเทศบาลฯได้ดำเนินการตรวจรับพัสดุและเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือได้ว่าสิ้นสุดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่คณะกรรมการวินิจฉัยจะต้องพิจารณาแต่อย่างใด
สำหรับโครงการนี้ ตามหนังสือเทศบาลนครอุบลราชธานี ด่วนที่สุด ที่ อบ 52001/11547 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ตามหนังสือที่อ้างถึง เทศบาลนครอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี แจ้งว่า เทศบาลฯ ได้จัดซื้อครุภัณฑ์รถยนต์ จำนวน 5 รายการ รวมวงเงิน 88,896,603 บาท
ได้แก่ โครงการจัดซื้อรถยนต์กวาดฝุ่น 6 ล้อ วงเงิน 16,654,000 บาท โครงการจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิง จำนวน 2 คัน วงเงิน 15,590,000 บาท โครงการจัดซื้อรถยนต์สุขาเคลื่อนที่ 6 ล้อ วงเงิน 4,481,000 บาท โครงการจัดซื้อรถดูดสิ่งปฏิกูล 6 ล้อ 3 ,768,000 บาท โครงการจัดซื้อรถบรรทุกน้ำ 10 ล้อ วงเงิน 2,979,000บาท และโครงการจัดซื้อรถยนต์กู้ภัยและดับเพลิง วงเงิน 45,424,603 บาท
สำหรับผู้บริหาร เทศบาลนครอุบลราชธานี ชุดเดิมมี นายประชา กิจตรงศิริ หัวหน้ากลุ่มเพื่ออุบล เป็นอดีตนายกเทศมนตรี แต่การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล ล่าสุด กลุ่มเพื่อไทยนครอุบล ที่มี นางสาวพิศทยา ไชยสงคราม ลูกสะใภ้ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง และนางสาวพิศทยา ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรี คนปัจจุบัน
สัปดาห์เดียวกัน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพิ่งเวียนหนังสือแนวทางปฏิปัติเกี่ยวกับการจัดซื้อรถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้แนะนำ อปท.ดำเนินการจัดหาพัสดุประเภทรถยนต์ ที่ใช้ในภารกิจต่าง ๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย มิให้เกิดการทุจริต
"การกำหนดคุณลักษณะของพัสดุที่จัดซื้อให้เหมาะสมแก่ภารกิจ หรือการนำไปใช้งานของอปท. หรือเป็นไปตามมาตรฐาน ครุภัณฑ์ และไม่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขที่กีดกันผู้เสนอราคาทำให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม พึงระมัดระวังโดยการตรวจสอบ ป้องกันมิให้มีการดำเนินการใด ๆ ในการจัดหาพัสดุ อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการเสนอราคา หรือการสมยอมราคากัน หรือการกระทำทุจริตอื่นใด"
รวมทั้งต้องดำเนินการในการจัดหา พัสดุให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการพัสดุกำหนดไว้
โดยแนบ 4 มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด ในห้วงปี 2564 เกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อรถยนต์ หลัง อปท.ดำเนินการจัดซื้อในภารกิจต่าง ๆ พบว่ามีการขี้มูล ความผิดการจัดซื้อรถยนต์เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายกรณี.