“ส.อ.ท.” เตรียมหารือ “อนุทิน” สัปดาห์หน้าเพื่อผลักดันการใช้ระบบ ENX ติดตามแจ้งเตือนผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงผ่านมือถือหวังเร่งคัดแยกผู้ป่วย รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีน กังวลล็อกดาวน์ครั้งนี้อาจไม่จบหากไม่เร่งแยกผู้ติดเชื้อให้เร็ว ผุด 3 มาตรการดูแลสมาชิกป้องกันการผลิตกระทบตั้ง 5 ทีมขับเคลื่อน แนะองค์การเภสัชฯ เร่งนำเข้า Rapid antigen test ราคาต่ำเพื่อขายประชาชน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของไทยที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายวันและยอดตายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการส่งออกที่จะเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็พบว่ามีแรงงานติดเชื้อแล้วเกือบทุกภาคส่วน ขณะที่การฉีดวัคซีนในภาคอุตสาหกรรมล่าสุดคิดเป็น 10% ของแรงงานราว 10 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น ส.อ.ท.จึงอยู่ระหว่างการนัดหมายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เพื่อที่จะผลักดันการใช้ระบบ Exposure Notification Express (ENX) ในการติดตามและแจ้งเตือนเมื่อใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงผ่านมือถือเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย รวมถึงความชัดเจนในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน
“ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังคงสูงขึ้น วัคซีนเองก็ยังมีปัญหา ก็อยากประกาศตามหาว่าวัคซีนไปไหน โดยเฉพาะแอสตร้าเซนเนก้ารัฐเองบอกจะมี 10 ล้านโดสในเดือน ก.ค.นี้แต่ก็ยังไม่มี เราก็กังวลว่าการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวใน 10 จังหวัดครั้งนี้จะไม่จบถ้าเราไม่เร่งแยกผู้ป่วยหรือควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็ว และการเปิดประเทศ 120 วันซึ่งต้องฉีดให้ครอบคลุมประชากร 50% ก็ยังคงห่างไกลถ้ายังไม่แก้คอขวดให้ได้ และนั่นหมายถึงมาตรการเยียวยาก็จะไม่สิ้นสุดไปด้วย ซึ่งเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ผมคิดว่าเราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็จะลำบาก” นายสุพันธุ์กล่าว
ดังนั้น ส.อ.ท.จึงได้ดำเนินการจัดทำ 3 มาตรการเร่งด่วน “ป้องกัน รักษา เยียวยา” และจัดตั้งคณะทำงาน 5 ชุดเพื่อนำร่องในการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวในการช่วยเหลือสมาชิก ส.อ.ท.ที่มีโรงงานเกี่ยวข้อง 1.3 หมื่นแห่ง (5-6 ล้านคน) โดยคณะทำงาน ได้แก่ 1. คณะทำงานด้านข้อมูลโควิด มีหน้าที่จัดการให้ความรู้คู่มือการใช้ Rapid antigen test, แนวการปฏิบัติตัวในช่วงโควิดและหลังโควิด ผ่านระบบ e-Learning และจัดทำคู่มือการปลูกและแจกเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจร โดยมีนายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธาน ส.อ.ท.เป็นประธานคณะทำงานฯ
2. คณะทำงานจัดหาชุด Rapid antigen test และจัดทำห้องความดันลบ มีหน้าที่ดำเนินการจัดหาชุด Rapid test & Product และจัดทำห้องความดันลบ โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. เป็นประธานคณะทำงานฯ แนวทางนี้คือการป้องกันที่เบื้องต้นจะจัดหามาให้สมาชิกที่ต้องการนำร่อง 5 หมื่นชุดในสัปดาห์หน้า ซึ่งได้มีการต่อรองราคาให้ต่ำกว่า 200 บาทต่อชุดและกำลังติดต่อการนำเข้ามาด้วย และเห็นว่าเรื่องนี้องค์การเภสัชกรรมเองมีอำนาจต่อรองในการจัดหาได้ดีกว่า ส.อ.ท. โดยหากดำเนินการเขาน่าจะทำได้ในระดับ 100 บาท หรือ 100 กว่าบาทต่อชุดด้วยซ้ำ แต่ก็คงจะต้องไปดูสัญญาเขาด้วยเพราะเขาไม่ยอมเปิด
3. คณะทำงาน Call Center และประสานงาน ทำหน้าที่ประสานงานรับเรื่องการตรวจโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร และให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีนายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.เป็นประธานคณะทำงานฯ
4. คณะทำงานระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงโควิด ทำหน้าที่ผลักดันต่อกรมควบคุมโรคเพื่อให้ภาคราชการ เอกชน ประชาชนได้ใช้ระบบ Exposure Notification Express (ENX) ในการติดตามและแจ้งเตือนเมื่อใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง โดยมีนายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท.เป็นประธานคณะทำงานฯ
5. คณะทำงานรับบริจาคช่วยเหลือ ทำหน้าที่เปิดรับบริจาคหาเงินช่วยเหลือในการดำเนินโครงการจัดทำห้องความดันลบ การจัดซื้อชุด Rapid test และการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยมีนางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน ส.อ.ท.เป็นประธานคณะทำงานฯ
สำหรับมาตรการเยียวยา ส.อ.ท.ได้ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคประชาชนที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลักดันโครงการ Faster Payment ให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะลดระยะเวลา Credit term ให้แก่คู่ค้าของบริษัทโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในระยะเวลา 30 วันต่อไปจนถึงสิ้นปี รวมไปถึงเตรียมทำหนังสือร่วมกันที่จะให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเอสเอ็มอีจากเดิม 40% เป็นอย่างน้อย 60% เร็วๆ นี้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ขอเชิญร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดหาห้องความดันลบช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ได้ที่ชื่อบัญชี มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม เลขที่บัญชี 009-1-71583-0 ธนาคารกรุงไทย สาขาไทยเบฟควอเตอร์ (ใบบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100%)