xs
xsm
sm
md
lg

โควิดรอบใหม่คุมไม่อยู่ กกร.หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 0 -1.5% จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กกร.” ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2564 ของไทยลดลงเหลือโต 0 -1.5% หลังประเมินโควิด-19 ระลอกใหม่ยังคุมไม่อยู่ แม้ปรับเป้าส่งออกปีนี้เพิ่มเป็น 8-10% แล้วก็ตาม หวั่นเปิดท่องเที่ยวไม่ได้ตามแผนหลังแผนกระจายวัคซีนยังไม่ถึงไหน ผวาจีดีพีเสี่ยงติดลบหากโควิดเอาไม่อยู่และต้องเพิ่มล็อกดาวน์ “ส.อ.ท.” จี้เพิ่มวงเงินค้ำประกัน บสย.ให้ SME เป็น 70% ด้านสภาหอฯ เล็งถก “สุพัฒนพงษ์” 9 ก.ค. อุ้ม SME

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 
ที่ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุม กกร.เดือน ก.ค.ได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเผชิญความเสี่ยงอย่างมากจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรงกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกขยายตัวเพิ่มก็ตาม ดังนั้น กกร.จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 จากเดิมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ 0.5-2% เมื่อเทียบกับปี 2563 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0-1.5% แต่ปรับเพิ่มการส่งออกจากเดิม 5-7% เป็น 8-10% และคงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 1-1.2%

“วันนี้เราได้เชิญทางสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ (สรท.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเข้าร่วมหารือด้วย ซึ่งยังคงกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในไทยที่ระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวตลอดช่วงไตรมาส 3 และอาจกระทบต่อแผนเปิดประเทศได้ จึงเห็นว่าควรเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอโดยเร็ว ส่วนมาตรการที่รัฐอาจจะนำไปสู่การล็อกดาวน์มากขึ้นนั้นคงต้องติตตามใกล้ชิดเพื่อให้ชัดเจนเพราะยังไม่อยากทำให้เกิดความสับสน” นายผยงกล่าว

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนต้องการให้รัฐเร่งจัดสรรวัคซีนให้เร็วที่สุด โดยเร่งนำวัคซีนจากรัฐบาลมากระจาย และเร่งการฉีดที่ 25 ศูนย์ที่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนการฉีดได้มากถึง 80,000 โดสต่อวัน และมีมาตรฐานในการรองรับผู้ฉีดทุกกลุ่ม โดยขอให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากการเปิดศูนย์ฉีดฯ ให้เต็มประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบในภาพรวม โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลในการเร่งฉีดและกระจายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด รวมถึงควรเร่งแผนการจัดหาวัคซีนและมีจุดยืนชัดเจนทางเลือกเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อพลิกสถานการณ์สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ของธนาคาร และจัดกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แยกจากลูกหนี้ NPL ทั่วไป รวมไปถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีที่ 1-3 เนื่องจากอยู่ในช่วงเดือดร้อนที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ให้ช่วยเหลือ SME ภายใต้โครงการ Faster Payment ของ ส.อ.ท. ได้รับการชำระเงินค่าสินค้าได้เร็วขึ้นภายใน 30 วัน ซึ่งจะดำเนินการขยายไปยัง SET100 และภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป เพิ่มจากเดิมที่ได้ดำเนินการ MOU ไปแล้ว 163 แห่ง


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.เห็นว่ารัฐควรจะเร่งจัดหาวัคซีนให้มากที่สุด จะเป็นยี่ห้อใดก็ได้คือไม่ใช่วัคซีนทางเลือกแต่เป็นวัคซีนทุกทาง แม้ว่าส่งออกของไทยมีทิศทางจะเติบโตได้ดีตามทิศทาง ศก.โลกแต่ก็ยังกังวลเพราะการระบาดโควิด-19 กระจายไปยังโรงงาน ขณะที่การฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะโรงงานในเขตปริมณฑล จึงต้องการให้รัฐเร่งจัดสรรวัคซีนให้ภาคอุตสาหกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข่าวว่ารัฐอาจจะเพิ่มมาตรการเป็นล็อกดาวน์นั้นจำเป็นที่รัฐควรจะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อให้การล็อกดาวน์นั้นเกิดผลที่ดีและรัฐเองจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือมากน้อยเพียงใดด้วย

“ส.อ.ท.เตรียมเสนอคลังเพื่อให้พิจารณาให้ บสย.ค้ำประกัน SME เพิ่มขึ้นเป็น 70% เพื่อให้ฝ่าวิกฤตโควิดไปได้ เพราะตอนนี้ค่อนข้างย่ำแย่ และเราก็ยังกังวลกรณีที่ปี 65 ไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุม APEC 2022 ถ้าเรายังฉีดวัคซีนไม่พร้อมก็อาจเสียโอกาสได้ ส่วนกรณีหากถามว่าจีดีพีมีโอกาสติดลบไหมก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะคุมโควิด-19 ได้มากน้อยเพียงใด และหากต้องล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกก็มีโอกาสแต่วันนี้ยังประเมินได้ยาก” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนเร็วที่สุดเพื่อเตรียมเปิดประเทศให้ได้ใน 120 วัน ซึ่งหอการค้าฯ เตรียมหารือพบปะกับ 40 CEO พลัสในวันที่ 8 ก.ค.นี้เพื่อสรุปถึงมาตรการต่างๆ ที่จะเตรียมรองรับ และวันที่ 9 ก.ค.จะหารือกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ที่จะเร่งสรุปมาตรการฟื้นฟู SME


กำลังโหลดความคิดเห็น