xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” เข้าปฏิบัติงานทำเนียบรัฐบาล ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ช่วงบ่ายเตรียมหารือมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SME

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรี เข้าปฏิบัติงานทำเนียบรัฐบาล ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ช่วงบ่ายเตรียมหารือมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SME


วันนี้ (23 มิ.ย.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ โดยช่วงเช้าเป็นการติดตามงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

จากนั้นในเวลา 13.30 น. นายฮาจี อิซมาอิล บิน ฮาจี อับดุล มานัป เอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลามประจำประเทศไทย เข้าอำลานายกรัฐมนตรี ในโอกาสพ้นหน้าที่

และในเวลา 14.30 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมหารือนโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอีกับภาคเอกชน จะมีภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม ประกอบด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมถึง นายอนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายวีระพงษ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ขณะที่ภาคเอกชนประกอบด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึง นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ก่อนหน้านี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้า อุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง หรือ เอสเอ็มอี รวมถึงกลุ่มค้าปลีก เพราะเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ การอัดฉีดสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบของสถาบันการเงิน แบบความเสี่ยงต่ำในระดับที่รับได้ รัฐบาลควรมีนโยบายกลางออกมาให้สถาบันการเงินปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อออกมาเพิ่มเติม พร้อมขอเร่งให้ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 3.5 แสนล้าน ออกมาให้มากกว่านี้

ด้าน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เตรียมรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีไทยที่เผชิญปัญหาหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมเสนอมาตรการเร่งรัด 3 เรื่อง คือ 1. ลดเวลาจ่ายเครดิตเทอมไม่เกิน 30 วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 60-120 วัน และให้นับจากวันที่ส่งสินค้า ไม่ใช่นับจากวันวางบิล หากเป็นผู้ผลิตสินค้าโอทอปให้จ่ายเป็นเงินสดไม่เกิน 7 วัน เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนหมุนเวียนเร็วขึ้น 2. รัฐควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้รับรู้และใช้ประโยชน์มากขึ้น จากการที่รัฐออกระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ที่โครงการรัฐหรือเมกะโปรเจกต์ต้องซื้อวัตถุดิบจากรายเล็กกว่า 30% ของวงเงินโครงการ 3. ผลักดันเรื่องสินเชื่อแฟคตอริ่ง ใบสั่งซื้อ-ใบกำกับภาษีเอสเอ็มอี เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ลดปัญหาสภาพคล่องและประคองการจ้างงาน

พร้อมกันนี้ เตรียมนำเสนอมาตรการวัดซีนทางเศรษฐกิจ 9 เข็ม โดยฉีด 3 เข็ม เร่งด่วนป้องกันการติดเชื้อล้มละลายและหยุดเลือดที่ไหล คือ 1. พักต้น-พักดอก-เติมทุน 2. สินเชื่อแฟคตอริ่ง ใบสั่งซื้อ-ใบกำกับภาษีเอสเอ็มอี 3. กองทุนประกันสังคม 30,000 ล้านบาท อีก 3 เข็มสำหรับการฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ของกระทรวงอุตสาหกรรม 2. สินเชื่อฟื้นฟูการเป็นเอ็นพีแอล 3. กองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอีไทย และอีก 3 เข็มสำหรับการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน คือ 1. มาตรการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจชาติ 2. เอสเอ็มอีชุมชนสร้างสรรค์ และจ้างงงานผู้ว่างงานพัฒนาเอสเอ็มอีท้องถิ่น และ 3. แฟรนไชส์ไทย สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น