“ส.อ.ท.” มองมาตรการเยียวยาลดผลกระทบโควิด-19 ล่าสุดโดยเฉพาะการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 10 จังหวัดจะช่วยประชาชนและธุรกิจได้ระดับหนึ่งแต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แนะเร่งแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อด่วนเหตุกักตัวอยู่บ้านรวมกัน และเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว ชี้ล็อกดาวน์รอบนี้คาดทำ ศก.เสียหาย 5-6 หมื่นล้านบาท
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา อย่างน้อย 14 วัน ว่า นับเป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือลดผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการและประชาชนได้ระดับหนึ่ง แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเพราะปัญหาเร่งด่วนที่ควรเร่งทำคือการล็อกดาวน์ที่ให้คนอยู่บ้านจำเป็นที่รัฐต้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ออกจากสมาชิกคนในบ้านที่ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อซึ่งขณะนี้พบว่าการระบาดได้เข้าสู่คนในครอบครัวมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้ครอบคลุม 70% ของประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว
“เวลานี้คนทั้งติดเชื้อและไม่ติดเชื้อต้องล็อกดาวน์อยู่ในบ้านเดียวกัน ดังนั้นรัฐบาลต้องแยกคนป่วยกับคนไม่ป่วยที่อยู่ในบ้านเดียวกันออกจากกันให้ได้ก่อน เพราะขณะนี้เกิดภาวะการแพร่ระบาดระหว่างคนใกล้ชิดในครอบครัว ที่สำคัญต้องทำควบคู่กับการตรวจเชิงรุกด้วยชุดทดสอบหาเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็ว หรือ Rapid Antigen Test ให้ประชาชนได้หาซื้อได้อย่างทั่วถึงโดยด่วนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระบุคลาการทางการแพทย์ และสามารถคัดแยกกลุ่มเสี่ยงออกมาให้รวดเร็ว” นายสุพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม สอท.ประเมินว่าการล็อกดาวน์ 10 จังหวัดรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท แต่ก็มั่นใจว่าหากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื่อลงได้ไปอยู่ในระดับหลักร้อยรายต่อวันเศรษฐกิจก็น่าจะเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตได้เหมือนการแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านๆ มา ซึ่งคงจะต้องติดตามว่าเมื่อครบ 14 วันแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงหรือไม่
นายสุพันธุ์กล่าวว่า การล็อกดาวน์มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพราะเป็นมาตรการหลักสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่มีความรุนแรงมากกว่าระลอกที่ผ่านๆ มา และส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนที่มากและเป็นวงกว้างซึ่งแน่นอนว่ามาตรการนี้มีทั้งผลดีและผลเสีย โดยผลดีจะทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น แต่ก็จะทำให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจหลายแห่งต้องลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน มากขึ้น ซึ่งยอมรับว่ากระทบต่อผู้ใช้แรงงานและลูกจ้างด้วยเช่นกัน ดังนั้นเร็วๆ นี้ ส.อ.ท.จะมีการประชุมและหารือกับกลุ่มสมาชิก ถึงมาตรการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป