ศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางคุ้มครอง “อิตาเลียนไทย” ทุเลาคำสั่งกรมบัญชีกลาง ประมูลรถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ชี้ยังไม่กระทบงานก่อสร้างในภาพรวมที่มี 14 สัญญา ส่วน “นภาก่อสร้าง” ยังลุ้นคุณสมบัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 31 พ.ค. 2564 ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำสั่งคดี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ยื่นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น กรณีคณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง พิจารณาให้บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (กลุ่มบริษัท นภาก่อสร้างและพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการเข้าร่วมประมูล ต่อมาทางบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทำสัญญาร่วมค้าอันมีลักษณะเป็นกิจการร่วมค้ากับ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอทุเลาการบังคับ
โดยตามคำร้องที่ 138/2564 คำสั่งที่ 164/2564 ระหว่างบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ผู้ฟ้องคดี บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ผู้ร้องสอด โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกรมบัญชีกลาง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, 2, 3 ตามลำดับ เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง)
ทั้งนี้ จากที่ รฟท.ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) สัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. ราคากลาง 11,063.937 ล้านบาท มีผู้ยื่นเสนอราคา 6 ราย โดยบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (กลุ่มบริษัท นภาก่อสร้างและพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย) เสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท ส่วนกิจการร่วมค้า ITD-CREC no.10 JV. (ไชน่า เรลเวย์-บมจ.อิตาเลียนไทยฯ) เสนอราคาอันดับสองที่ 9,349 ล้านบาท แต่บริษัท บีพีเอ็นพี ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณสมบัติ ประเด็นจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่และผลงานก่อสร้าง รฟท.จึงประกาศให้กลุ่ม ITD-CREC ชนะประมูล ต่อมา บริษัท บีพีเอ็นพี ยื่นอุทธรณ์ฯ โต้แย้ง แต่ รฟท.ไม่เห็นด้วย และรายงานข้อมูลเหตุผลไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง
ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ได้มีหนังสือถึง รฟท.ให้อนุมัติยกเว้นแก่ บริษัท บีพีเอ็นพี เป็นการเฉพาะราย ในระหว่างพิจารณา ทางบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้ยื่นหนังสือโต้แย้งคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้บริษัทเสียหาย แต่ไม่ได้รับการพิจารณา จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยศาลปกครองได้มีคำสั่งเพื่อขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
สำหรับคำสั่งศาลปกครองสูงสุด วันที่ 31 พ.ค. 2564 ที่ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อน เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีงานโยธาจำนวน 14 สัญญา ซึ่งปัจจุบัน งานโยธาเสร็จเพียง 1 สัญญา อีก 13 สัญญามีการประกวดราคาแยกต่างหากออกจากกัน สามารถดำเนินการได้เอกเทศ จึงเห็นว่าสัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและการบริหารงานของ รฟท.