xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.จ่อชงบอร์ดขยายจ้าง รฟฟท.เดินรถสีแดง 3 ปี-ขอ ครม.กู้ 2,100 ล้านเป็นทุนหมุนเวียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.เตรียมชงบอร์ดขยายเวลาจ้าง รฟฟท.เดินรถไฟสีแดง 3 ปี กรอบค่าจ้าง 2,100  ล้าน สัญญาจ้างปีต่อปี พร้อมเสนอ ครม.ขออนุมัติกู้เงินใช้เป็นทุนหมุนเวียนสีแดง คาดเปิดรับพนักงานรอบ 2 หลัง คน รฟฟท.ส่วนหนึ่งไปเข้า ซี.พี.เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์และไฮสปีด 3 สนามบิน  

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันนั้น รฟท.จะให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.)  เป็นผู้เดินรถในช่วงแรกประมาณ 3 ปี ในระหว่างศึกษาการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในการเดินรถตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ซึ่งที่ผ่านมา รฟท.ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาจ้างบริหารการเดินรถไฟฟ้าระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองให้กับ รฟฟท. เป็นผู้เดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563-ก.ย. 2564 เป็นระยะเวลา 11 เดือน โดยมีกรอบวงเงินค่าจ้าง 61 ล้านบาท โดยรฟฟท.ได้มีการรับสมัครพนักงานชั่วคราวจำนวน 256 คน เข้ามาฝึกอบรมและทดสอบการเดินรถต่างๆ แล้ว  

ทั้งนี้ รฟท.อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ขออนุมัติจ้าง รฟฟท.ให้บริหารการเดินรถไฟสายสีแดง 3 ปี ต่อจากการจ้างเดิมที่จะสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2564 ในรูปแบบการจ้างปีต่อปี ปีแรก เดือน ต.ค. 2564-ก.ย. 2565 ปีที่ 2 ต.ค. 2565-ก.ย. 2566 และปีที่ 3 ต.ค. 2566-ก.ย. 2567 โดยหลังจากบอร์ด รฟท.อนุมัติจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่ออนุมัติในหลักการ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาพร้อมขออนุมัติการกู้เงินใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการเดินรถสายสีแดง กรอบวงเงิน 2,100 ล้านบาทต่อระยะเวลา 3 ปี (ไม่รวมดอกเบี้ยจ่ายของสายสีแดง) หรือเฉลี่ย 700 ล้านบาทต่อปี  

สาเหตุที่ต้องมีการกู้เงินเพื่อใช้เป็นสภาพคล่องในการบริหารสายสีแดง โดยประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นจะมีค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ วงเงิน 2,100 ล้านบาทเป็นกรอบที่ขออนุมัติไว้แต่จะกู้ตามวงเงินที่ใช้จริง ซึ่งตัวเลขไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะดูเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่จะเป็นส่วนของรายได้ด้วย  

“หลักการของการบริหารรถไฟสายสีแดง จะมีการแยกบัญชีออกจาก รฟท.เพื่อรับรู้รายได้ การขอกู้เงินเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน จะเห็นถึงสภาพคล่องที่แท้จริง มีกำไรจากไหน ขาดทุนจากจุดใด”  

สำหรับบุคลากรของสายสีแดงนั้นต้องการประมาณ 790 คน เบื้องต้นรับสมัครพนักงานชั่วคราวจำนวน 256 คน และคาดว่าจะมีการโอนจาก รฟฟท. (ผู้ปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) ประมาณ 534 คน แต่ขณะนี้พบว่าพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์เกือบครึ่งจะสมัครเข้าเป็นบุคลากรของ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (EHSR) เพื่อดำเนินการในส่วนของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่จะมีการส่งมอบให้ทางกลุ่ม ซี.พี.   

ดังนั้น จะมีการพิจารณาเปิดรับสมัครพนักงานสำหรับรถไฟสายสีแดงรอบสองเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ไม่โอนมาจากแอร์พอร์ตลิงก์ โดยคาดว่าการคัดสรรพนักงานในส่วนรถไฟเชื่อมสามสนามบินจะสรุปใน 2-3 เดือนนี้ หรือภายในเดือน มิ.ย. 2564 ก่อนที่ ซี.พี.จะมีการรับโอนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ภายใน 2 ปีหลังการลงนามในสัญญา หรือภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ซึ่งจะทำให้ทราบถึงจำนวนบุคลากรของ รฟฟท.ที่จะโอนมายังสายสีแดง จากนั้นจึงจะรับสมัครในล็อตที่ 2 ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 คน  

อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรองรับการเปิดให้บริการ (Soft Opening) รถไฟสายสีแดงในเดือน ก.ค. 2564 นี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และมั่นใจว่าจะเติมเต็มพนักงานให้ครบจำนวนที่ต้องการได้ทันต่อการเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 2564 แน่นอน   

 

  

  


กำลังโหลดความคิดเห็น