xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่ออัปรายได้-เท 238 ล้านผุดสกายวอล์กเชื่อม รพ.จุฬาภรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.ปรับผังเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ ดึงชั้น 3 รับไฮสปีดกว่า 1.8 ตร.ม.ใช้ประโยชน์เพิ่ม เร่งประมูล มิ.ย.นี้ แยกงานที่จอดรถ รักษาความปลอดภัยและความสะอาดดูแลเอง บอร์ดเคาะงบ 238 ล้านสร้าง Skywalk เชื่อมสถานีหลักสี่กับ รพ.จุฬาภรณ์

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อว่า ล่าสุดได้มีการปรับแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้สอดคล้องกับการให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งใช้เทคโนโลยีต่างๆ ดำเนินการผ่านออนไลน์ ทำให้สามารถนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชั้น 3 ที่มีการออกแบบไว้เผื่อสำหรับรองรับรถไฟความเร็วสูงสายใต้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนพื้นที่ประมาณ 18,600 ตารางเมตรที่สามารถนำมาใช้พัฒนาเชิงพาณิชย์ได้  

โดยจะทำให้สถานีกลางบางซื่อมีพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มจากเดิมที่มีประมาณ 5% (12,900 ตร.ม.) เป็น 39.8% (51,465 ตร.ม.) และมีพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา 2,360 ตร.ม. ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของสถานีกลางบางซื่อ นอกจากนี้จะพิจารณาหาพลังงานทางเลือกเข้ามาช่วยเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายซึ่งประเมินว่าสถานีกลางบางซื่อจะมีค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูง   

ทั้งนี้ รฟท.จะประมูลคัดเลือกเอกชนที่เป็นมืออาชีพเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ และพื้นที่โฆษณาภายในอาคารสถานีให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด โดยอยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดและจัดทำร่างทีโออาร์ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564 โดยจะทยอยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 ส่วนอายุสัญญาจะไม่น้อยกว่า 15 ปี 

ส่วนบริการที่จอดรถของสถานีกลางบางซื่อนั้น แม้จะเป็นบริการที่สร้างรายได้ แต่ รฟท.จะต้องดำเนินการเอง เพราะหากนำไปรวมในสัญญาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จะทำให้เป็นโครงการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 ซึ่งจะมีขั้นตอนเพิ่มและยุ่งยาก ไม่ทันการเปิดให้บริการเดือน พ.ย. 2564     

สำหรับบริการด้านรักษาความสะอาด และรักษาความปลอดภัยนั้น รฟท.จะจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยจะประเมินค่าใช้จ่ายว่ามีเท่าไร เพื่อพยายามหารายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เพียงพอ  

นายนิรุฒกล่าวว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีสายสีแดงอีก 12 สถานีนั้นจะแยกเป็นอีกสัญญา โดยจะหาโมเดลที่เหมาะสม เนื่องจากสถานีแต่ละแห่งมีบทบาทที่ต่างกัน เช่น สถานีรังสิต เป็นชุมทางรองรับประชาชนย่านปทุมธานี ส่วนสถานีดอนเมืองจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับสนามบิน โดยในระยะแรกจะเน้นในการให้บริการประชาชนเพื่อให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าออกสถานีได้สะดวกรวดเร็ว โดยจะเร่งพัฒนาระบบฟีดเดอร์ต่างๆ ก่อน  

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์รายได้เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อเฉลี่ยในปีแรกกว่า 221 ล้านบาท/ปี และเพิ่มเป็น 300 ล้านบาทในปี 2573 ธุรกิจโฆษณามีรายได้เฉลี่ย 244 ล้านบาท/ปี ส่วนที่จอดรถเฉลี่ย 89 ล้านบาท/ปี ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่า 400 ล้านบาท/ปี 

@เทงบ 238 ล้านบาทสร้าง Skywalk เชื่อมสถานีหลักสี่กับ รพ.จุฬาภรณ์

นายนิรุฒกล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้มีมติอนุมัติจัดจ้างกิจการร่วมค้า NWR-AVP (บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอ็ดวานซ์ พรีแฟบจำกัด) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางเชื่อม Skywalk ระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์กับสถานีหลักสี่ (รถไฟสายสีแดง) ตามพระดำริ วงเงิน  238.22 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 240 วัน นับจากที่ รฟท.แจ้งให้เริ่มทำงาน โดย Skywalk มีความยาว 750 เมตร กว้าง 4 เมตร

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง รฟท.กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่เดินทางมายังโรงพยาบาลรวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า โดยมีรถกอล์ฟไฟฟ้าให้บริการรับส่งพร้อมระบบลิฟต์สำหรับผู้ป่วย คนชรา และผู้พิการ ให้ได้รับความสะดวกมากที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีชมพูด้วย  

  












กำลังโหลดความคิดเห็น