xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.ดีเดย์ 5 เม.ย.ห้ามวิ่งช่องไหล่ทางด่วน ฝ่าฝืนรอรับใบสั่งได้เลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทพ.จับมือตำรวจดีเดย์ 5 เม.ย.ทางด่วน 4 สาย ห้ามวิ่งไหล่ทางซ้าย ห้ามขับเร็วเกินกำหนด ฝ่าฝืนเตรียมรอรับใบสั่งได้เลย เผย ลงทุน 20 ล้าน ติดตั้งป้ายเตือนความเร็วและกล้อง ชี้ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ

วันนี้ (2 เม.ย ) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับ พ.ต.อ.ชูตระกูล ยศมาดี รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดสมุทรปราการ และ พ.ต.อ.ศราวุธ จิตต์ระเบียบ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร แถลงถึงมาตรการความปลอดภัยบนทางพิเศษด้วยกล้องตรวจจับความเร็วและกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยความร่วมมือระหว่าง กทพ. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า กทพ. ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ในการบูรณาการทำงานร่วมกันมาโดยตลอด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษ โดยมุ่งเน้นถึงความปลอดภัย  มาเป็นอันดับแรก ซึ่งจากข้อมูลของ กทพ. โดยระบบงานเหตุการณ์บนทางพิเศษ (TFC) พบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนทางพิเศษในปีงบประมาณ 2563 มี 809 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 2.6 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 449 ราย และเสียชีวิต จำนวน 7 ราย โดยเกือบ 50% ของอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ เช่น การใช้ความเร็วสูง การเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ฯลฯ

ดังนั้น กทพ. โดยฝ่ายควบคุมการจราจร จึงได้จัดทำแผนการดำเนินงานการป้องกันอุบัติเหตุในทางพิเศษ ประจำปีงบประมาณ 2563-2565 โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้บนทางพิเศษ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ทางพิเศษให้เหลือน้อยที่สุดรวมถึงลดความสูญเสียในทรัพย์สินของผู้ใช้ทางพิเศษ

โดยมาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 ประกอบด้วย 2 มาตรการ วงเงินลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท คือ

1. การติดตั้งป้ายแจ้งเตือนความเร็ว (Your Speed Sign) ที่ทำงานควบคู่ไปกับกล้องตรวจจับความเร็วเพื่อให้ผู้ใช้ทางพิเศษใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด โดย กทพ. จะดำเนินการติดตั้งให้ครอบคลุมทั่วทุกสายทางพิเศษรวมจำนวนทั้งสิ้น 17 จุด บนทางด่วน 4 สายทาง ซึ่ง กทพ. ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2564 จำนวน 2 เส้นทาง คือ ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) จำนวน 4 จุด และทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) จำนวน 5 จุด
สำหรับอีก 2 เส้นทางที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการประกอบด้วย ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 4 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย. 2564 เเละทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 4 จุด คาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย. 2565

2. การติดตั้งกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในไหล่ทางโดย กทพ. จะดำเนินการติดตั้ง จำนวน 32 จุด บนทางพิเศษ 4 สายทาง ซึ่ง กทพ. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2563 จำนวน 1 เส้นทาง คือ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 10 จุด ส่วนอีก 3 เส้นทาง อยู่ในระหว่างการดำเนินการ คาดว่า จะแล้วเสร็จในปลายปี 2564 ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 6 จุด ทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 8 จุด และทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 8 จุด        

ทั้งนี้ ในส่วนของทางพิเศษที่มีเอกชนร่วมดำเนินการ กทพ. ได้ประสานให้มีการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว และกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) เช่นกัน โดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2564

ซึ่งจากการประสานกับตำรวจ จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป เริ่มบนทางด่วน 4 เส้นทาง ที่มีการติดตั้งป้ายแจ้งเตือนและกล้องตรวจจับความเร็วแล้ว โดยขั้นตอนดำเนินการ คือ เมื่อ กทพ.ตรวจพบรถที่กระทำผิด จะรวบรวมข้อมูล พร้อมไฟล์ภาพจัดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

“ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด หรือวิ่งไหล่ทางนั้น เป็นความผิดตามกฎหมายแล้วอยู่แต่ที่ผ่านมา ผู้ใช้ทางคิดว่าทำได้ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายนี้ มีเจตนาเพื่อลดอุบัติเหตุ โดยป้ายเตือนล่วงหน้าว่ามีกล้องตรวจจับเพื่อป้องปรามการทำผิด ซึ่งการใช้ความเร็วสูง หรือวิ่งไหล่ทางซ้ายที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้รถติดคือการเปลี่ยนเลนเบียดแทรก กะทันหัน รวมถึงสภาพรถที่ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น ดังนั้น หากพฤติกรรมการขับขี่เป็นไปตามระเบียบรถจะติดน้อยลง”

ด้าน พ.ต.อ.ชูตระกูล ยศมาดี รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ไหล่ทางไม่ใช่ช่องทางสัญจรปกติ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 103 โดยบนทางด่วนนั้น ไหล่ทางจะใช้กรณีรถฉุกเฉิน รถพยาบาล รถดับเพลิง หรือการให้ใช้ในเวลาเร่งด่วน ซึ่งเจ้าพนักงานจราจรจะใช้ดุลพินิจ กรณีมีการเปิดให้ใช้ไหล่ทาง ซึ่งจะทำเป็นช่วงๆ และบางเวลา เท่านั้น โดยตำรวจจะประสานกับทาง กทพ.ให้รับทราบก่อน โดยความผิดจะเป็นมาตรา 139 การฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจร อัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ส่วนความเร็วอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง โดยจะปรับความเร็วบนทางด่วนจากไม่เกิน 90 กม./ชม.เป็น 100 กม./ชม. ส่วนพื้นราบ ปรับจาก 90 กม./ชม. เป็น 110 กม./ชม.






กำลังโหลดความคิดเห็น