“ศักดิ์สยาม” สั่งเร่ง 4 โครงการแก้ปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางด่วนตามมติ คจร. ด้าน กทพ.ลุยปรับระบบเก็บเงิน-แก้จุดตัด ทะลวงคอขวดเสร็จ ธ.ค. 64
วานนี้ (23 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษผ่านระบบทางไกล VDO CONFERENCE โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสํานักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (กองยุทธศาสตร์และแผนงาน) เข้าร่วม
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาผลการดําเนินงานการแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีจํานวน 4 เส้นทาง ได้แก่
ทางหลวงพิเศษหมายเลข M7 ช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ, ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน, ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์, ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก และทางยกระดับบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว โดยได้เร่งรัดติดตามแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษ โดยเน้นการเพิ่มพื้นที่ผิวจราจรบนทางพิเศษ ปรับปรุงรูปแบบระบบการเก็บค่าผ่านทาง และขยายผิวจราจรบริเวณจุดคอขวด
นอกจากนี้ กทพ.ได้รายงานผลการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ โดยมีความคืบหน้าของการศึกษาปัญหาจราจรที่เกิดขึ้นบนโครงข่ายทางพิเศษ สามารถแบ่งกลุ่มปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก่ ปัญหาปริมาณจราจรเกินความจุบนทางพิเศษ ปัญหาจํานวนช่องเก็บค่าผ่านทางไม่เพียงพอ ปัญหาจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางแยกต่างระดับ เช่น บริเวณทางร่วม ทางแยก และปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษที่ต่อเนื่องจากถนนพื้นราบ
ทั้งนี้ กทพ.ได้นําเสนอแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การเพิ่มพื้นที่ผิวจราจรของทางพิเศษ การปรับปรุงรูปแบบระบบเก็บค่าผ่านทาง การขยายผิวจราจรบริเวณจุดคอขวดที่เกิดจากลักษณะทางกายภาพของทางพิเศษ การก่อสร้างทางลงเพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดจากการตัดกระแสจราจร และการบริหารจัดการจราจรบริเวณทางลงทางพิเศษร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ งานศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบจะดําเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2564
นายศักดิ์สยามได้มอบหมายให้ กทพ.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ทล./ทช./สนข./กทม./สตช.) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างเป็นระบบ และพิจารณาการนําเทคโนโลยี รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการบริหารจัดการจราจรในภาพรวม โดยนําเสนอแผนและระยะเวลาในการดําเนินงานให้มีความครบถ้วนและครอบคลุม