xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเตรียมวางจุดยืนสู่วิถีไร้คาร์บอน-ดันพลังงานทดแทนเพิ่ม ลุ้น 24 มี.ค.เคาะเป้าอีวีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.พลังงานเร่งจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ พร้อมบูรณาการทุกส่วนรับมือกระแสโลกร้อน ผนึกก.ทรัพย์ฯ เตรียมวางจุดยืนไทยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบเข้มข้นก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอนในเวที COP26 ปลาย พ.ย.นี้ จ่อปรับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ทั้งโซลาร์ ชีวมวล ลม ฯลฯเพิ่มขึ้นจากแผน จับตาบอร์ดอีวีแห่งชาติ 24 มี.ค.เล็งกำหนดเป้าปีใดเลิกขายรถยนต์สันดาปภายในประเทศก้าวสู่อีวี

นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (รวม 5 แผนพลังงาน) เพื่อตอบโจทย์กระแสโลกที่มุ่งลดภาวะโลกร้อน โดยการกำหนดจุดยืนของไทยถึงแนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เข้มข้นเพื่อก้าวสู่การปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ซึ่งท้ายสุดจะนำไปสู่การปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในแผนให้มากขึ้น รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศ 100% เพื่อตอบโจทย์ทิศทางของโลก คาดว่าแผนพลังงานแห่งชาติจะวางกรอบหลักๆ เสร็จเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบเร็วๆ นี้ จากนั้นจะนำมาสู่การลงรายละเอียดและเป็นแผนสมบูรณ์ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2565-2569

“แผนพลังงานแห่งชาติจะรวม 5 แผนพลังงานที่มีอยู่ คือ PDP, AEDP EEP, Gas Plan และ Oil Plan โจทย์ใหญ่ของแผนไทยต้องวางจุดยืนเรื่องสังคมไร้คาร์บอนเพราะกติกาโลกกำลังรุมเร้า จีนประกาศคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2060 สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ปี 2050 ไทยหนีไม่พ้น ล่าสุดนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้หารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วที่จะร่วมกำหนดเป้าหมายปีที่ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ (Net Zero Emission Year) ก่อนที่จะมีการประชุมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติปี 2564 หรือ COP26 ระหว่าง 1-12 พ.ย. 64” นายกวินกล่าว

ทั้งนี้ หากไทยไม่ประกาศจุดยืนดังกล่าวอาจกระทบต่อการส่งออกและการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ (FDI) เพราะมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์เริ่มกลายเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่มิใช่ภาษี (NTB) เช่นล่าสุดสหภาพยุโรป (อียู) กำหนดมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ CBAM กับสินค้าบางประเภทที่ลดคาร์บอนต่ำกว่าอียูซึ่งจะใช้ปี 2566 เหล่านี้ทำให้ไทยต้องเร่งหาพลังงานหมุนเวียนให้พอกับความต้องการของนักลงทุนที่จะสูงขึ้น ซึ่งเวลานี้นักลงทุนเริ่มสอบถามเข้ามามากและต้องการพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงต้องทบทวนศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของไทยในการเพิ่มเข้าระบบให้สูงขึ้นจากแผนเดิม ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ลม และแม้กระทั่งไฮโดรเจน และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะไม่ปิดกั้น รวมถึงการลงทุนระบบส่งอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) รองรับเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน การมาของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และเทคโนโลยี 5G ก็จะทำให้การใช้ไฟสูงขึ้นมากสำรองไฟจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสม

สำหรับอีวีจะกระทบทุกส่วนทั้งอุตสาหกรรม พลังงาน ภาคขนส่ง การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่มี รมว.พลังงานเป็นประธานจะประชุม 24 มีนาคมนี้ จึงต้องเร่งสรุปภาพให้เห็นชัดเจนว่าปีใดไทยจะหยุดขายรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในประเทศเพื่อไปสู่อีวี 100% เนื่องจากขณะนี้ไทยเป็นศูนย์กลาง (HUB) การส่งออกรถยนต์ในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะรถปิกอัพ ดังนั้นจึงเป็นการส่งสัญญาณรักษาฐานผลิตเดิมและค่อยๆ ปรับเพิ่มไปสู่อีวีเพื่อไปสู่ฮับอีวีในอนาคต ซึ่งมาตรการส่งเสริมที่ผ่านมามีมากแล้วแต่อาจจะยังไม่ได้บูรณาการเท่าที่ควร

“เราส่งออกรถยนต์เกือบครึ่ง เราจึงจะไปประกาศยกเลิกทั้งหมดไม่ได้เลย มองตลาดในประเทศที่จะไปสู่อีวี และการมาของอีวียังกระทบต่อการใช้น้ำมันที่ลดลงซึ่งทำให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เป็นรายได้คลังจะลดไปด้วย ก็เป็นโจทย์ที่ต้องคิด B10 จะปรับไปสู่น้ำมันเจ็ตได้หรือไม่เพื่อหาดีมานด์ใหม่ โรงกลั่นและปิโตรเคมีเราจึงวางแผนไปสู่ปิโตรเคมีเฟส 4 นี่คือที่มา และถ้าถามโรงไฟฟ้าถ่านหินควรเกิดไหมส่วนตัวผมเห็นว่าควรยกเลิกนะ ส่วนนิวเคลียร์มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เป็นเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กตอบโจทย์เรื่องพลังงานสะอาด ผมเห็นว่ายังควรคงอยู่ไว้ในแผน แต่รายละเอียดก็ต้องรอคิดว่ากรอบหลักๆ จะเห็นได้ใน 1-2 เดือนนี้” นายกวินกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น