xs
xsm
sm
md
lg

เล็งใช้โมเดลญี่ปุ่นลดCO2 ทำแผนพลังงานชงเข้าครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กระทรวงพลังงานเตรียมหารือ "เมติ" หวังใช้โมเดลญี่ปุ่น กำหนดเป้าลดคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ จากการใช้ก๊าซและน้ำมัน หวังนำมาปรับใช้ ในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ดันเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น คาดชงครม.เคาะก.ย.นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานเตรียมใช้เวทีการประชุมเชิงนโยบายกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ ที่ปีนี้กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพ โดยฝ่ายไทยจะขอรายละเอียดของแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นโมเดลในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่มีเป้าหมายสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออไซด์ (CO2)เป็นศูนย์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเดือนมี.ค.นี้ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำเสนอต่อ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน และเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนปรับปรุงแผนเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติ ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมครม. ประมาณเดือนส.ค.-ก.ย.นี้

"ก๊าซเรือนกระจกนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน หลายประเทศได้มีการจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ทั้งสหรัฐฯ รวมถึงญี่ปุ่น ได้ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี2593 และยังมียุทธศาสตร์การเติบโตด้านพลังงานสะอาด “green growth strategy"กำกับการขับเคลื่อนชัดเจน ไทยเองอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ จะเลือกโมเดลญี่ปุ่นในการนำมาเป็นต้นแบบ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานส่วนใหญ่คล้ายไทย ได้มีการออกมาตรการการเงิน มาตรการภาษี และการผลักดันต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราก็จะต้องมาดูว่า จะลดการปล่อยคาร์บอนลงเท่าไร ปีไหน และจะเพิ่มพลังงานสะอาดอย่างไร" นายกุลิศ กล่าว

ทั้งนี้ การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ เป็นการรวมแผน ที่ประกอบไปด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แผนพัฒนาพลังงานทดแทน แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นในทุกๆแผน ก็จะต้องกำหนดแนวทางขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เช่น แผนก๊าซฯ จะต้องกำหนดว่าจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)สัดส่วนเท่าใด ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างไร จะใช้สัดส่วนในการผลิตไฟมากน้อยเพียงใด เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ไฟฟ้าต้องดูเรื่องไฟฟ้าสำรองของประเทศในอนาคต จะเป็นอย่างไร เพื่อกำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ให้เหมาะสม แต่คาดว่า พลังงานหมุนเวียนจะต้องปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน จากเดิมกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนตลอด 20 ปี อยู่ที่ 25% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ส่วนแผนน้ำมันฯ ก็ต้องมาดูว่าหากการส่งเสริมใช้ยายนต์ไฟฟ้า (อีวี) เกิดขึ้น หรือเข้ามาเร็ว ยอดการใช้น้ำมัน จะเป็นอย่างไร และแผนบริการจัดการเอทานอล กับไบโอดีเซล จะต้องปรับอย่างไร เพราะใน 5 ปีข้างหน้า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถนำเงินมาอดุหนุนราคาได้แล้ว ตามข้อกำหนดของกฎหมาย รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันจะต้องปรับตัวอย่างไร หากอีวี เข้ามา


กำลังโหลดความคิดเห็น