xs
xsm
sm
md
lg

โลกปลุกพลัง! สู่ยุค CARBON NEUTRAL ไทยต้องเร่งปรับรับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) นับเป็นปีที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อนที่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างแสดงออกร่วมกันในการแก้ไขโลกร้อนด้วยการประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (CARBON NEUTRAL) และในทางปฏิบัติคงจะชัดเจนมากขึ้นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพร่วมกับอิตาลีในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้

โดยประเทศยักษ์ใหญ่ที่หลายฝ่ายจับตาถึงท่าทีต่อนโยบายลดโลกร้อนทั้งสหรัฐอมริกา และจีนต่างออกมาเคลื่อนไหว โดยสหรัฐฯ ภายหลังจากโจ ไบเดน ก้าวสู่การเป็นประธานาธิบดีได้ประกาศกลับสู่ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อ 19 ก.พ. 64 หลังจากที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศถอนตัวออกไปเมื่อปี 2017 และยังกำหนดให้สหรัฐอเมริกาก้าวสู่ CARBON NEUTRAL หรือไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจหรือการบริการของผลิตภัณฑ์ในปี 2050 ภายใต้แผนต่างๆ ที่มีรายละเอียดไว้รองรับ เช่นเดียวกับจีน โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศไว้ในช่วงปลายปี 2563 ถึงเป้าหมาย carbon neutral ของจีนก่อนปี 2060 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จีนแสดงจุดยืนดังกล่าวอย่างชัดเจน

หากย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของข้อตกลงปารีส หรือความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เจรจากันในช่วงการประชุมภาคีสมาชิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ หรือ UNFCCC ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (COP21) และได้รับความเห็นชอบในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และรับรองโดย UNFCCC มีเป้าหมายจะรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไว้ที่ประมาณ 0.2-0.3 องศาเซลเซียส (°C) หรือให้ต่ำกว่า 2 °C ซึ่งข้อตกลงปารีสมีสมาชิกกว่า 189 ประเทศทั่วโลกร่วมที่จะขับเคลื่อน ถึงตอนนี้ยังมีอีกหลายประเทศไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้และอาจทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 2.7 องศาเซลเซียส ดังนั้น บทบาทของจีนที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 1 ใน 4 ของโลกจึงเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ ขณะเดียวกันทุกประเทศก็ต้องเร่งมือลดโลกร้อนอย่างเร่งด่วน

สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมความตกลงปารีส โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2030 หรือปี 2573 ในสาขาพลังงาน การคมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย แต่ยังไม่ได้มีการประกาศก้าวไปสู่ CARBON NEUTRAL ที่ชัดเจนนัก แต่ภาคเอกชนไทยมีการตื่นตัวค่อนข้างมากต่อ Carbon Neutral ที่หลายบริษัทออกมาประกาศถึงแนวทางดังกล่าว เพราะนี่คือเทรนด์โลกที่ไทยไม่อาจหลีกเลี่ยง และนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกท้ายสุดอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยหากทุกภาคส่วนไม่เร่งปรับตัว

จากการที่ประเทศยักษ์ใหญ่ประกาศ CARBON NEUTRAL ชัดเจน ไทยเองต้องเร่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเร่งด่วน เพราะระหว่างการไปสู่เป้าหมายนั้นประเทศต่างๆ จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาที่เป็นลักษณะการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (NBT) เช่น การปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง การขยายการใช้มาตรการ EU Emission Trading Scheme สำหรับปี 2564-2573 เพื่อทบทวนการเรียกเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง ฯลฯ เหล่านี้ ซึ่งหากไทยไม่เตรียมพร้อมจะกระทบต่อการส่งออก ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่เริ่มเกิดขึ้น

เขากล่าวว่า แม้ว่าเอกชนไทยที่ผ่านมาจะตื่นตัวพอสมควรแต่นโยบายดังกล่าวกำลังขับเคลื่อนเร็วขึ้น และนี่คือระเบียบโลกใหม่ที่จะเกิดชัดเจนภายในกลางศตวรรษนี้ ทำให้มีแนวโน้มความต้องการพลังงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อภาคการผลิตของไทยที่จะต้องเป็นพลังงานสะอาดจะมีสัดส่วนสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจากผู้ผลิตเพื่อการส่งออก เพราะหากไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจแข่งขันได้หากต้องส่งไปยังประเทศที่มีนโยบายเข้มข้นด้านสิ่งแวดล้อมทั้งอียู สหรัฐฯ และอื่นๆ

EV-โซลาร์ฯ+แบตเตอรี่มาแน่นอน

เทรนด์ของโลกว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกทำให้ภาคพลังงานไทยจำเป็นต้องกำหนดความสมดุลระหว่างพลังงานฟอสซิล กับพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของโลกและก้าวสู่การปล่อย CO2 เป็นศูนย์ในอนาคตในที่สุด ซึ่งนับจากนี้ความต้องการไฟฟ้าที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนจะมีสูงขึ้นเนื่องจากโลกเริ่มนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า ซึ่งหากกระบวนการผลิตไม่ใช้พลังงานสะอาดจะไม่สามารถส่งออกได้ ดังนั้น เทรนด์ดังกล่าวไทยต้องเตรียมรับมือ
หากมองว่านวัตกรรมพลังงานใดจะมาคงหนีไม่พ้น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเข้ามาทดแทนเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบัน ขณะที่การผลิตไฟฟ้านวัตกรรมที่มาอย่างแน่นอนคือพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) บวกแบตเตอรี่ โดยมีการคาดการณ์กันว่าอีกไม่เกิน 5 ปีการผลิตไฟโซลาร์บวกแบตเตอรี่จะมีต้นทุนค่าไฟอยู่ในระดับ 2.50 บาทต่อหน่วยใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าก๊าซฯ นอกจากนี้ ในส่วนของพลังงานลมก็จะไล่ตามมา

“ผมเห็นว่าการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการจะนำไปสู่การสร้างสมดุลของพลังงานสะอาดที่ลดโลกร้อนเพื่อตอบโจทย์เทรนด์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และสามารถตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนในอนาคตและตลาดการค้าคาร์บอนที่จะมีมากขึ้นด้วย” นายสุวิทย์กล่าวย้ำ

ขยะ ปัญหาที่ไทยต้องเร่งแก้อย่างเป็นระบบ

ขยะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เพราะเกือบทุกขั้นตอนของการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องมีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งล่าสุด ครม.เมื่อ 15 ก.พ. 64 เห็นชอบให้ เลิกใช้ 1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3. แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ 4. หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย ภายในปี 2565 และกำหนดให้นำพลาสติกเป้าหมายกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่า 50% ของพลาสติกเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/LDPE) ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) ฝาขวด แก้วพลาสติก ถาด/กล่องอาหาร และช้อน/ส้อม/มีด


“เราเองไม่ได้คัดค้านมาตรการรณรงค์ดังกล่าว แต่มองว่าบางเรื่องหากจะขับเคลื่อนจะต้องใช้กลไกกฎหมายที่เท่าเทียมกันบังคับควบคู่กันไปด้วย ซึ่งไทยควรทำเช่นต่างประเทศในการจำหน่ายถุงพลาสติกแทนการแจกฟรีโดยอาจจะเป็นใบละ 2-5 บาท โดยแบ่งเป็นต้นทุนค่าถุงพลาสติกและโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมของห้าง ร้านค้าไม่เกิน 1 บาทต่อใบ ที่เหลือนำส่งเข้ากองทุนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปอุดหนุนการรีไซเคิลหรือจัดการขยะที่ถูกวิธี ซึ่งจะยั่งยืนกว่าโดยโมเดลนี้ญี่ปุ่นก็ใช้ประสบความสำเร็จมาแล้ว” นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวแสดงถึงจุดยืน

ทั้งนี้ การที่จะให้ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ จำหน่ายถุงพลาสติกและส่งเงินเข้ากองทุนรักษาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะต้องแก้กฎหมายของกระทรวงการคลังต้องไม่นับเงินในส่วนนี้เป็นรายได้ที่เอกชนต้องเสียภาษี เพราะเป็นการนำเงินไปใช้ในโครงการสิ่งแวดล้อมของร้านค้า และการบำบัดสิ่งแวดล้อมของประเทศ และการจัดการขยะต้องทำอย่างเป็นระบบเพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและควรจะต้องมองตั้งแต่การคัด แยกขยะ ไปจนถึงการจัดการทั้งฝังกลบ รีไซเคิล และนำไปเผาผลิตไฟฟ้า ด้วยการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาปรับใช้เพื่อให้คุณค่าสูงสุด

นายอภิภพชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่างๆ ทั้งอิตาลี ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีนล้วนใช้เงินอุดหนุนในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจรีไซเคิล ซึ่งกรณีของญี่ปุ่นในอดีตเขาก็มีปัญหาขยะไม่ต่างจากไทย แต่ปัจจุบันเฉพาะในเมืองโตเกียวมีโรงเผาขยะกว่า 23 แห่งและเป็นระบบที่ดีตั้งอยู่ใจกลางเมืองเกือบทั้งสิ้น ซึ่งไทยเองไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องเทคโนโลยีแต่เราขาดการจัดการคัดแยกขยะที่ไม่ดีพอทำให้เกิดขยะเปียกที่มากเกินไปเมื่อนำไปเผาจึงไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการคัดแยกขยะจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งที่เอกชนคาดหวังว่าอนาคตไทยต้องเร่งเปลี่ยนแปลง และนโยบายพลังงานถือเป็นด่านสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่เป็นการรวม 5 แผนหลักด้านพลังงาน ซึ่งประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งการจัดทำจะประกอบด้วยรายงานทิศทางพลังงานของประเทศเบื้องต้น (White Paper) ในระยะ 10-15 ปี และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ระยะ 5-10 ปี

แผนพลังงานแห่งชาติจะตอบโจทย์ถึงทิศทางเทรนด์โลกในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหมายถึงแผนที่ต้องคำนึงถึงการสร้างสมดุลของพลังงานระหว่างสัดส่วนก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันไทยพึ่งพิงมากสุดในการนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแม้ว่าจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพลังงานสะอาดแต่ก็เป็นพลังงานจากฟอสซิล ขณะที่ไทยมีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะแสงอาทิตย์ และลม รวมไปถึงการจัดการขยะด้วยนโยบายการส่งเสริมนำมาผลิตไฟฟ้า

ดังนั้นจึงต้องจับตาว่าท้ายสุดบทบาทของพลังงานที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการลดก๊าซเรือนกระจกจะออกในรูปแบบใด โดยคาดว่าไม่เกินกลางปีนี้แผนพลังงานแห่งชาติก็จะคลอดมาให้เห็น แต่เหนือสิ่งอื่นใด แผนต่างๆ นั้นจะประสบความสำเร็จใช่ว่าจะเป็นแผนที่ดูดี แต่แผนที่ดีคือแผนที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น