xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’นำประชุม‘ซัมมิตกลุ่มคว็อด’ ที่ถูกมองว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งเพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘องค์การนาโตในเอเชีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน


นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูงะ (ที่ 2 จากขวา) พูดระหว่างการประชุมซมมิตแบบเสมือนจริงของกลุ่ม “คว็อด” ณ ทำเนียบที่พักอย่างเป็นทางการของเขาในกรุงโตเกียว  ขณะที่จากจอมอนิเตอร์จะเห็นภาพขงประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน (บนขวา), นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสัน  (ล่างซ้าย) นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี (ล่างชวา)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Quad summit next step towards an Asian NATO
by Richard Javad Heydarian
13/03/2021

การจัดประชุมระดับซัมมิตครั้งแรกของกลุ่ม “คว็อด” เป็นการประกาศให้เห็นถึงความร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์ที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสหรัฐฯ, อินเดีย, ญี่ปุ่น, และออสเตรเลีย โดยมีแผนการซึ่งมิได้มีการพูดออกมาอย่างเปิดเผยว่ามุ่งหมายที่จะปิดล้อมจีน

มหาอำนาจสำคัญ 4 รายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย, อินเดีย, ญี่ปุ่น, และสหรัฐฯ หารือกันเมื่อวันศุกร์ (12 มี.ค.) ที่ผ่านมา ในการประชุมระดับประมุขรัฐและรัฐบาลครั้งแรกสุดของกลุ่มไม่เป็นทางการ ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า “การสนทนาความมั่นคง 4 ฝ่าย” (Quadrilateral Security Dialogue) หรือเป็นที่รู้จักกันมากกว่าในนามว่ากลุ่ม “คว็อด” (Quad)

กาประชุมซัมมิตครั้งนี้ซึ่งใช้เวลาประมาณ 90 นาที และจัดขึ้นในรูปแบบเสมือนจริงสืบเนื่องจากความจำกัดต่างๆ จากสถานการณ์โรคระบาดใหญ่โควิด-19 นั้น ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว เป็นการแผ้วถางทางให้คืบหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง บนเส้นทางมุ่งสู่การเป็น “องค์การนาโต้ในเอเชีย” (Asian NATO) ในทางพฤตินัย ท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์แข็งกร้าวยืนกรานขึ้นทุกทีของจีนในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ผู้ลงแรงล็อบบี้อย่างแข็งขันเพื่อให้มีการประชุมซัมมิตเช่นนี้ตั้งแต่ช่วงต้นๆ แห่งสมัยการเป็นประมุขทำเนียบขาวของเขา โดยที่ผู้นำรัฐบาลของอีก 3 ชาติที่เหลือก็เข้าร่วมด้วยอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสัน, นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูงะ, และนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี

ซัมมิตคราวนี้ ผู้นำทั้ง 4 ที่เข้าร่วมต่างให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์ในระดับเข้มข้น ทั้งในด้านที่แต่ไหนแต่ไรมาถือว่าอยู่ในแวดวงความมั่นคง และในด้านซึ่งเมื่อก่อนไม่ถือว่าอยู่ในแวดวงดังกล่าว

สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ มหาอำนาจกลุ่มคว็อดเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันในแผนการริเริ่มใหม่ๆ หลายอย่าง เป็นต้นว่า แผนการริเริ่ม “หุ้นส่วนวัคซีนกลุ่มคว็อด” (Quad Vaccine Partnership) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแบบร่วมมือประสานงานกันเพื่อต่อสู้ต้านทานนโยบาย “การทูตวัคซีน” (vaccine diplomacy) ของจีน ตามแผนการนี้ ทั้ง 4 ประเทศจะขยายความช่วยเหลือทางสาธารณสุขและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 1,000 ล้านโดสให้แก่ชาติต่างๆ ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม คณะบริหารไบเดนได้ใช้ความพยายามอย่างสุขุม เพื่อลดทอนน้ำหนักของข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ว่า วอชิงตันกำลังสร้างกลุ่มพันธมิตรต่อต้านจีนขึ้นมาภายใต้การอุปถัมภ์ของกลุ่มคว็อด

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน แทบไม่ได้เอ่ยถึงกลุ่มคว็อดเลยใน “การปราศรัยใหญ่ว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศครั้งแรกของเขา” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/a-foreign-policy-for-the-american-people/) รวมทั้งในเอกสาร “แนวทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับชั่วคราว” (Interim National Security Strategic Guidance) ของทำเนียบขาว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2021/03/NSC-1v2.pdf) ก็ไม่ให้มุ่งชูกลุ่มนี้ขึ้นมาให้เตะตาดูสำคัญโดดเด่น

ก่อนหน้าซัมมิตครั้งนี้ เจน ซากี เลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ของทำเนียบขาว ยังพยายามที่จะวาดภาพการหารือของกลุ่มคว็อด ว่าเป็นแพลตฟอร์มอันสร้างสรรค์สำหรับความร่วมมือกันในระดับโลก เนื่องจากผู้นำทั้ง 4 จะปรึกษากันใน “ประเด็นปัญหาต่างๆ หลายหลาก” ไม่ใช่มุ่งโฟกัสไปที่จีน โดยสิ่งที่จะคุยกันมีทั้ง “ภัยคุกคามของโควิด, ไปจนถึงเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ, และแน่นอนทีเดียว ไปจนถึงเรื่องวิกฤตการณ์ด้านภูมิอากาศด้วย”

ทำนองเดียวกับการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มคว็อด ซึ่งได้จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยที่มี บลิงเคน เป็นเจ้าภาพ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/secretary-blinkens-call-with-quad-ministers/) ในซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์คราวนี้ มหาอำนาจทั้ง 4 ยังคงหลบเลี่ยงไม่มีการเอ่ยตรงๆ ถึงจีนใดๆ เลยในคำแถลงร่วมของพวกเขา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/03/12/quad-leaders-joint-statement-the-spirit-of-the-quad/)

การที่คณะบริหารไบเดนมีความระมัดระวังมากในเรื่องถ้อยคำขนาดนี้ ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางโคจรอันไม่มีความแน่นอนของการรวมตัวเป็นกลุ่มคว็อดเช่นนี้ในระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://warontherocks.com/2017/11/rise-fall-rebirth-quad/) ทั้งนี้ ความหายนะจากมหาแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียปี 2004 ซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงไปทั่วทั้งเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการเสนอแนะเกี่ยวกับการเพิ่มพูนความร่วมมือกันระหว่างมหาอำนาจทั้ง 4 รายนี้

ทว่าออสเตรเลีย และอินเดียซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้วางตัว “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” มาโดยตลอด ได้เลือกที่จะไม่เข้าร่วมคลุกคลีใกล้ชิดกับกลุ่มนี้เมื่อช่วงปลายทศวรรษ 2000 และหันไปสร้างความผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กับจีนที่กำลังเติบโตเข้มแข็งขึ้นมา อย่างไรก็ดี กลุ่มคว็อดกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งในสมัยคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเสาะแสวงหาการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรต่อต้านจีนขึ้นมาอย่างกระตือรือร้น ท่ามกลาง “สงครามเย็นครั้งใหม่” อันร้อนแรงกับปักกิ่ง

พวกผู้นำของชาติทั้ง 4 ในกลุ่มคว็อดได้จัดการสนทนาแบบไม่เป็นทางการขึ้นมา ในการหารือข้างเคียงของการประชุมซัมมิตกลุ่มอาเซียนที่กรุงมะนิลาเมื่อปี 2017 จากนั้นก็ติดตามมาด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรีอีก 2 ครั้ง คือที่นิวยอร์กในปี 2019 และที่โตเกียวในปี 2020 เมื่อพวกผู้นำที่มีแนวคิดแบบสายเหยี่ยวขึ้นมาครองอำนาจในพวกชาติสมาชิกคว็อดกันมากขึ้น ในจังหวะเวลาเดียวกับที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กับจีนก็เพิ่มความล้ำลึก

คณะบริหารไบเดนกำลังหยิบคว้าสิ่งที่คณะบริหารชุดก่อนของสหรัฐฯทิ้งเอาไว้ให้ ด้วยการจัดประชุมหารือระดับรัฐมนตรีคว็อดครั้งที่ 3 และการประชุมซัมมิตระดับผู้นำครั้งแรก ตั้งแต่ช่วงสองสามเดือนแรกที่เข้าปกครองประเทศ

เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของกลุ่มคว็อกว่า เป็น “รากฐานหนึ่งสำหรับการก่อสร้างนโยบายที่เป็นเนื้อเป็นหนังของอเมริกัน” ขณะที่ทำเนียบขาวยอมรับว่า การที่จัดประชุมคว็อดขึ้นมาอย่างเร่งด่วนเช่นนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง “ความสำคัญที่เราให้แก่การร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบรรดาพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราในอินโด-แปซิฟิก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hindustantimes.com/world-news/us-says-early-quad-summit-timing-reflects-joe-biden-s-priorities-101615352187784.html)

ในบทความชิ้นหนึ่งที่ดูจะมีอิทธิพลสูง อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เจมส์ แมตทิส (James Mattis) พร้อมด้วยเพื่อนร่วมงานของเขา 2 คน ณ สถาบันฮูเวอร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University’s Hoover Institution) ซึ่งเขาไปทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ในตอนนี้ ได้ชมเชยคณะบริหารไบเดนสำหรับการ “สานต่อความเคลื่อนไหวของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการฟื้นฟูชุบชีวิตกลุ่ม (คว็อด) นี้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://foreignpolicy.com/2021/03/10/getting-the-quad-right-is-bidens-most-important-job/)

แมตทิสแสดงทัศนะว่า การยกระดับกลุ่มคว็อดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทัดทานความทะเยอทะยานของจีน คือ “ภารกิจสำคัญที่สุด (ของไบเดน) ในเอเชีย แต่การทำเรื่องนี้จำเป็นต้องมีวาระเป็นพิเศษเพื่อการสร้างเป้าหมายร่วมกันขึ้นมา”

ซัมมิตกลุ่มคว็อดคราวนี้ถูกแต่งแต้มแฝงฝังด้วยสีสันทางอุดมการณ์อยู่บ้างอย่างจางๆ จากการที่ผู้นำทั้ง 4 ซึ่งล้วนผ่านการเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตย ได้กล่าวยกย่องการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นก้าวเดินสำคัญก้าวหนึ่งในการปกปักรักษาระเบียบของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ชนิดที่ “ยึดมั่นอยู่กับค่านิยมต่างๆ ทางประชาธิปไตย”

พวกเขายังวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างอ้อมๆ ในเรื่องแสดง “ความก้าวร้าวรุกราน” และ “การใช้อำนาจบังคับ” เพื่อเล่นงานสมาชิกของพวกเขาบางราย เป็นต้นว่า “การใช้อำนาจบังคับ (ในทางการค้า) ต่อออสเตรเลีย, การก่อกวนรังควาญของพวกเขารอบๆ หมู่เกาะเซงกากุ, ความก้าวร้าวรุกรานของเขาตรงพรมแดนติดต่อกับอินเดีย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3125290/us-president-joe-biden-opens-quad-summit-calling-alliance)

ในคำแถลงร่วมของพวกเขา เหล่าผู้นำของกลุ่มคว็อดได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาในการ “ส่งเสริมสนับสนุนระเบียบที่เสรี เปิดกว้างและยึดโยงอยู่กับกฎเกณฑ์ รวมทั้งมีรากเหง้าอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อทำให้เความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งก้าวคืบหน้าไป และต่อต้านคัดค้านภัยคุกคามทั้งที่อยู่ภายในอินโด-แปซิฟิก และที่มาจากภายนอก เราสนับสนุนหลักนิติธรรม, เสรีภาพของการเดินเรือและเสรีภาพในการเดินอากาศ , การใช้วิธีการสันติมาแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ, ค่านิยมต่างๆ ทางประชาธิปไตย, และบูรณภาพแห่งดินแดน” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/03/12/quad-leaders-joint-statement-the-spirit-of-the-quad/)

อย่างไรก็ตาม ซูงะดูจะเต็มใจให้ข้อมูลเพิ่มเติมกว่านี้ โดยเปิดเผยทางทวิตเตอร์ว่า ทางกลุ่มมีความเห็นร่วมกันในการ “คัดค้านอย่างแข็งขันต่อความพยายามตามอำเภอใจฝ่ายเดียวของจีนในการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีพิพาททางดินแดนและในกรณีพิพาทว่าด้วยพื้นที่ทางทะเล ซึ่งจีนมีอยู่กับชาติเพื่อนบ้าน ที่รวมถึงอินเดียและญี่ปุ่นด้วย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/sugawitter/status/1370406571612598277?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E1370406571612598277%7Ctwgr%5E%7Ctwcon%5Es1_&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.theguardian.com%2Faustralia-news%2F2021%2Fmar%2F13%2Faustralia-commits-100m-to-covid-vaccine-deal-at-quad-meeting)

เป็นที่คาดหมายกันว่า มหาอำนาจทั้ง 4 ยังมีการกระชับความร่วมมือกันเพื่อต่อต้านสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นวิธีปฏิบัติด้านการลงทุนแบบมุ่งล่าเหยื่อของจีน ตลอดจนหารือเพื่อจัดระเบียบการร่วมซ้อมรบทางนาวีของพวกเขา ในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียไปจนถึงทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ดี เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ พยายามอธิบายว่า “ผู้นำทั้ง 4 ได้มีการหารือเกี่ยวกับความท้าทายซึ่งเกิดขึ้นจากจีนกันจริงๆ และพวกเขาก็ทำให้เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่าไม่มีใครในพวกเขาที่มีมายาภาพใดๆ เกี่ยวกับจีน” แต่กระนั้นซัมมิตครั้งนี้ก็ “ไม่ใช่ว่าโดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีน”

ด้วยความกระหายที่จะแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคว็อดเป็นอะไรที่มากมายไปกว่าแค่เวทีพูดจากันเรื่อยเจื้อย หรือเป็นการจับมือเป็นพันธมิตรทางการทหาร ไบเดนและผู้นำคนอื่นๆ ได้ผลักดันแผนการริเริ่มระดับโลกออกมาหลายๆ อย่าง รวมทั้งการเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนิน “การปฏิรูปอย่างโปร่งใสและเน้นที่ผลลัพธ์” สำหรับองค์การอนามัยโลก , แผนการริเริ่มหุ้นส่วนใหม่ในการผลิตและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19, และความร่วมมือกันให้มากขึ้นในการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เหล่าผู้นำกลุ่มคว็อดได้เห็นพ้องกันให้จัดตั้ง “พาหะทางการเงินอันซับซ้อนสมบูรณ์” ที่มีทั้ง บรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US International Development Finance Corporation ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์การนี้ได้ที่เว็บไซต์ https://www.dfc.gov/) และหน่วยงานทำนองเดียวกันของญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และอินเดีย ตลอดจนองค์การอนามัยโลก เพื่อเร่งรัดเพิ่มพูนการกระจายวัคซีนในทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นยุทธบริเวณสำคัญแห่งหนึ่งของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์กับจีน

ด้วยความกระหายที่จะทัดทานตอบโต้ “การทูตวัคซีน” ของปักกิ่ง พวกมหาอำนาจกลุ่มคว็อดแถลงว่า พวกเขากำลังพิจารณาที่จะบริจาควัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวน 1,000 ล้านโดสให้แก่รัฐต่างๆ ในภูมิภาคนี้ก่อนสิ้นปี 2022 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.voanews.com/covid-19-pandemic/quad-aims-increase-vaccine-production-1-billion-doses-southeast-asia) ทั้งนี้ โคแวกซ์ (COVAX ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ได้ที่ https://www.gavi.org/vaccineswork/covax-explained) ที่เป็นกลไกระดับโลกสำหรับการกระจายแจกจ่ายวัคซีนจำนวนมาก (อาจจะถึง 2,000 ล้านโดส) ให้แก่พวกประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวน 94 ราย ตลอดจน สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) ที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายยักษ์ใหญ่ของโลก จะเป็นส่วนประกอบตัวหลักๆ ของแผนการริเริ่มนี้ของกลุ่มคว็อด

ออสเตรเลียยังให้คำมั่นที่จะใช้จ่ายในจำนวนอาจจะถึง 100 ล้านดอลลาร์ สำหรับการกระจายวัคซีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่กลุ่มคว็อดกำลังรวบรวมจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่แผนการริเริ่มด้านสาธารณสุขในภูมิภาค

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวาระข้างบนสุดของกลุ่มคว็อด จากการที่คณะบริหารไบเดนกำลังหวนกลับไปยอมรับปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของอเมริกันที่ให้ไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกทั้งกำลังป่าวร้องนโยบาย “นิวดีลสีเขียว” (Green New Deal) ของตนเอง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.independent.co.uk/climate-change/news/green-new-deal-what-is-biden-summary-aoc-b1790197.html) เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon-neutral economy ระบบเศรษฐกิจที่การปล่อยไอเสียคาร์บอนสุทธิเท่ากับ 0) ให้ได้ภายในกลางศตวรรษนี้ มันก็กำลังเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นต่อออสเตรเลียและอินเดีย ให้ต้องลดการปล่อยไอเสียคาร์บอนของพวกเขาลงด้วยในช่วงหลายๆ ทศวรรษต่อจากนี้

มหาอำนาจทั้ง 4 เห็นพ้องกันที่จะร่วมมือกันให้แนบแน่นใกล้ชิดยิ่งขึ้นในเรื่องการบรรเทาภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ด้วยการ “ประคับประคองให้การจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิตามข้อตกลงปารีส ยังคงเป็นสิ่งซึ่งสามารถบรรลุได้” อันเป็นการอ้างอิงถึงจุดมุ่งหมายในการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกภายในสิ้นศตวรรษนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส

ก่อนหน้านี้ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ผู้เป็น “ซาร์” ทางด้านภูมิอากาศของไบเดน ได้กล่าวยอมรับอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะว่า มีความคิดเห็นแตกต่างจากออสเตรเลียในเรื่องการลดระดับการปล่อยไอเสียคาร์บอนเพื่อต่อสู้กับภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/australia-news/2021/feb/24/joe-bidens-climate-envoy-admits-us-and-australia-not-on-same-page) ถึงแม้ว่าพวกชาติเจ้าของเศรษฐกิจสำคัญๆ ในเอเชีย รวมทั้งประเทศจีนที่ยังมีฐานะเป็นชาติกำลังพัฒนาด้วยซ้ำ ต่างเห็นดีเห็นงามกับการมุ่งหน้าไปสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ ภายในช่วงเวลาหลายๆ ทศวรรษที่กำลังจะมาถึงข้างหน้านี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.abc.net.au/news/2020-09-25/china-carbon-neutral-2060-pledge-renewables-technology/12694260)

ถึงแม้ซัมมิตคราวนี้อ้างว่ามุ่งโฟกัสไปที่ภัยคุกคามความมั่นคงชนิดซึ่งอยู่นอกเหนือสิ่งที่เคยยึดถือกันตามประเพณี รวมทั้งคณะบริหารไบเดนยังเน้นย้ำไปที่วาระอันสร้างสรรค์ของกลุ่มก็ตามที แต่ปักกิ่งก็ยังคงแสดงความระแวงสงสัยอย่างลึกล้ำอยู่นั่นเอง ทั้งนี้ก็ด้วยความกังวลที่มองเห็นความร่วมมือกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในหมู่ปรปักษ์ของตน จีนนั้นได้กล่าวถึงกลุ่มคว็อดว่าเป็น “องค์การนาโต้ระดับมินิ” (mini-NATO ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/australia-news/2021/mar/10/china-standoff-a-priority-for-australia-at-first-quad-leaders-meeting) และเป็นรูปแบบของ “ลัทธิพาหุภาคีแบบคัดเลือกผู้เข้าร่วม” (selective multilateralism) ซึ่งมุ่งก่อให้เกิดความแตกแยก

“เราหวังว่าประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะยึดมั่นหลักการของการเปิดกว้าง, การเปิดให้ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม, และผลลัพธ์แบบทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะ, ละเว้นจากการก่อตั้งกลุ่มแก๊งแบบปิดและกีดกันคนนอก และทุกๆ ประเทศจะปฏิบัติตนอยู่ในหนทางซึ่งมุ่งเอื้ออำนวยให้เกิดสันติภาพ, เสถียรภาพ, และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เจ้า ลี่เจียน แถลงเช่นนี้ ไม่นานนักหลังซัมมิตคว็อดคราวนี้เสร็จสิ้นลง
กำลังโหลดความคิดเห็น