“ส.อ.ท.” เร่งทำแผนพีดีพีภาคประชาชน คาดเสร็จภายในสิ้นปีนี้หวังตอบโจทย์การพัฒนาพลังงานไทยให้สอดรับเทรนด์โลกที่กำลังก้าวสู่ยุคไร้คาร์บอนฯ ในอนาคต แนวโน้มภาคการผลิตเตรียมควานหาพลังงานหมุนเวียนลดการกีดกันการส่งออก คาดโซลาร์ฯ บวกแบตเตอรี่อีก 5 ปีสู้ได้
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มฯ อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับภาคประชาชน โดยได้มีการทยอยเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไปแล้ว 10 ครั้งและยังคงเปิดรับความเห็นต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถจัดทำแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้เพื่อที่จะนำเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายด้านพลังงานต่อไป
“ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.ได้จัดทำแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับภาคประชาชนไปแล้ว และล่าสุดกำลังทยอยนำเสนอต่อกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในเดือน มี.ค.นี้ทั้งหมด” นายสุวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ พีดีพีภาคประชาชนจะเน้นตอบโจทย์ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. เทรนด์ของโลก ที่นโยบายพลังงานของไทยต้องสร้างสมดุลของพลังงานฟอสซิลทั้งก๊าซ น้ำมัน และพลังงานทดแทน เนื่องจากขณะนี้กติกาของโลกเปลี่ยนไปมีการประกาศเป็นประเทศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นศูนย์ หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Nuetral) 100% เช่น จีนในปี 2060 สหรัฐฯ 2050 ฯลฯ เหล่านี้จะส่งผลให้ไทยต้องจัดระเบียบพลังงานใหม่ให้สอดรับกับเทรนด์โลก และ 2. ความต้องการใช้พลังงาน (ดีมานด์) จะเปลี่ยนไป ทั้งการมาของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และเทรนด์โลกที่จะทำให้ความต้องการพลังงานหมุนเวียนเพื่อมุ่งไปสู่การลด CO2 สูงขึ้นตามไปด้วย
“การทำแผนพีดีพีภาคประชาชนจะมองทั้งระบบ และเทรนด์ใหม่ในเรื่องของดิจิทัลแพลตฟอร์ม ระบบแบตเตอรี่ (ESS) และอีวี เข้ามาไว้ทั้งหมดให้เห็นภาพใหญ่ที่จะทำให้เห็นว่าไทยจะต้อง Move ไปทางไหน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเก่าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องลดอย่างไรในอนาคต แม้แต่ก๊าซฯ แม้จะสะอาดแต่ก็มาจากฟอสซิล” นายสุวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับเอกชนพบว่าแนวโน้มความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนจะมีสูงขึ้นเนื่องจากโลกเริ่มนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า ซึ่งหากกระบวนการผลิตไม่ใช้พลังงานสะอาดจะไม่สามารถส่งออกได้ ดังนั้น เทรนด์ดังกล่าวไทยต้องเตรียมรับมือ และจากการหารือพบว่าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) บวกแบตเตอรี่จะมาในอีกไม่เกิน 5 ปี โดยจะมีราคาค่าไฟอยู่ในระดับ 2.50 บาทต่อหน่วยใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ซึ่งถึงเวลานั้นหากไทยไม่ปรับตัวจะทำให้คนไทยต้องใช้ไฟแพง